ตลาดคาร์บอนเครดิต ส่อแววสดใส สนค. ชี้โตเร็ว คาดมูลค่าตลาดโลกจะสูงถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ความต้องการสูงถึง 3-5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี73 ชี้เป็นโอกาสทองเพิ่มมูลค่าภาคเกษตร-ส่งออกที่แปลงเป็นคาร์บอนเครดิตได้ และเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าที่ลดการปล่อยคาร์บอน
เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างมากสำหรับคาร์บอนเครดิต ที่มีภาคธุรกิจ และสายกรีนพูดถึงกันมากในช่วงนี้ และคาดว่าจะเป็นเทรนด์ที่มาแรงอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้จากนี้ไป โดยล่าสุด นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการติดตามตลาด “คาร์บอนเครดิต” ที่มุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า ประเทศต่าง ๆ
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดกลยุทธ์และมาตรการควบคุมคาร์บอน เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นภาษีจากการประกอบกิจการในประเทศ หรือภาษีจากการนำเข้าสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนสูง ส่งผลให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ผ่านกลไกตลาดคาร์บอน เพื่อให้ธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง สามารถซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) เพื่อชดเชย การปล่อยคาร์บอน (เสมือนผู้ซื้อได้ดำเนินการลดจำนวนคาร์บอน) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าวเพิ่มเติม
เปิดสถิติการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ม.ค.- ก.พ. 66 เติบโตมากกว่า 5 เท่าจากปี 65
เตรียมลงทะเบียนแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต FTIX 16 ม.ค. นี้
โดยจากการสำรวจ พบว่า ในปี2563 ที่ผ่านมาตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) มีมูลค่าสูงถึง 1,980 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าภายในปี 2573 คาดว่ามูลค่าตลาดจะสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐในขณะที่ความต้องการคาร์บอนเครดิตอาจมีมูลค่าสูงถึง30,000-50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เริ่มเป็นที่นิยมในหลายประเทศ
อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ มองว่า จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต เป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจภาคเกษตรไทย เนื่องจากการปลูกพันธุ์ไม้ที่สามารถแปลงเป็นคาร์บอนเครดิต 58 สายพันธุ์ ที่นอกจากปลูกเพื่อการค้าแล้ว ยังสามารถเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VERs2) สาขาเกษตร (สวนผลไม้) ซึ่งเป็นการสร้างรายได้หลายทาง ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคเกษตร และสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต
เครดิตภาพ : Freepik
ไม่เพียงเท่านี้นอกจากนี้ไทยยังจะมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ จะได้เปรียบด้านราคากว่าสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง เพราะปัจจุบันมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกฎระเบียบโลกสมัยใหม่ ที่จะถูกนำมาใช้มากขึ้น คือตัวแปรสำคัญในการแข่งขันทางการค้าเพื่อป้อนสู่ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งไทยต้องบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในเชิงรุก เตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจปรับตัว ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้ไทยต้องขับเคลื่อนBCG โมเดล การสร้าง News S-Curve ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมภาคการเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก การเร่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อดักจับคาร์บอน การใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในเชิงพาณิชย์ การปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ การสร้างมูลค่าเพิ่มของคาร์บอนเครดิตและสิทธิประโยชน์ทางภาษี การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมองค์ความรู้ในการเข้าร่วม T-VERs ให้แก่ธุรกิจการเกษตรไทย
ซึ่งจากนี้ไปสนค. จะเดินหน้าดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย เพื่อเตรียมพร้อมต่อมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม กรณีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย เพื่อเตรียมความพร้อม ต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในตลาดโลกต่อไป
ทั้งนี้มีการคาดการณ์ความต้องการคาร์บอนเครดิตในไทยในอนาคต ซึ่งประเมินจากข้อมูลปี 2563 กว่า 81 องค์กร มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเฉลี่ยราว 160 ล้านตัน tCO2e ต่อปี ซึ่งหากหน่วยงานเหล่านั้น ต้องการที่จะเป็นหน่วยงานปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral Organization) ความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชยในปี 2563 - 2573 คาดว่าจะสูงถึงราว 1,600 ล้านตัน tCO2e