svasdssvasds

วินด์ เอนเนอร์ยี่ ชี้ “พลังงานลม” ในไทยบูม-ลุยลงทุนต่อเนื่อง

วินด์ เอนเนอร์ยี่ ชี้ “พลังงานลม” ในไทยบูม-ลุยลงทุนต่อเนื่อง

"พลังงานลม" ในไทยโตเงียบ วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ คว้า 4 โครงการจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาครัฐ แตะ 1,016 เมกะวัตต์ ลุยโครงการใหม่รวมกว่า 2,000 เมกะวัตต์

SHORT CUT

  • พลังงานลม เป็นอีกหนึ่งในพลังงานสะอาดที่มาแรงในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

  • ซึ่งผ่านมา แม้ว่าจะดูเหมือนไม่หวือหวาเหมือนพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลลาร์เซลล์

  • เอกชนเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง เช่น วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ คว้า 4 โครงการจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาครัฐ แตะ 1,016 เมกะวัตต์ ลุยโครงการใหม่รวมกว่า 2,000 เมกะวัตต์ 

"พลังงานลม" ในไทยโตเงียบ วินด์ เอนเนอร์ยี่ฯ คว้า 4 โครงการจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาครัฐ แตะ 1,016 เมกะวัตต์ ลุยโครงการใหม่รวมกว่า 2,000 เมกะวัตต์

พลังงานลม เป็นอีกหนึ่งในพลังงานสะอาดที่มาแรงในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยที่ผ่านมาแม้ว่าจะดูเหมือนไม่หวือหวาเหมือนพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลลาร์เซลล์ ก็ตาม แต่…จริงๆแล้วพลังงานลมในไทยแอบเติบโตแบบเงียบๆ และผู้เล่นในตลาดน้อย คู่แข่งไม่มาก ที่สำคัญแม้ว่าจะต้นทุนในเรื่องของเทคโนโลยี การลงทุนที่สูง ทำให้นักลงทุนสนใจน้อย แต่ถ้าหากใครทำได้ ก็นับว่าเป็นขุมทรัพย์อันมหาศาล

วันนี้ #SPRiNG มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ผู้บริหาร “วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” เจ้าพ่อพลังงานลมนัมเบอร์วันของเมืองไทยอย่าง “ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH เขาได้ฉายภาพให้เห็นถึงทิศทางของพลังงานลมในไทยว่า 15 ปีจากนี้ไป รวมถึงอนาคต พลังงานในประเทศไทยจะอย่างต่อเนื่อง ได้รับอานิสงส์กันทั้งระบบ ทั้งผู้รับเหมา แรงงาน อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งระบบ รวมถึงรองรับการขยายตัวของการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวกันมากขึ้น รับเทรนด์การค้าโลกที่ภาคธุรกิจไทยต้องใช้ไฟฟ้าสีเขียว

วินด์ เอนเนอร์ยี่ ชี้ “พลังงานลม” ในไทยบูม-ลุยลงทุนต่อเนื่อง

เขาฉายภาพใหญ่ ว่าวินด์ เอนเนอร์ยี่ กำลัง“เข้าสู่ยุคแห่งการเติบโต” หลังคว้า 4 โครงการจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาครัฐ ทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 แตะ 1,016 เมกะวัตต์ บรรลุตามเป้าหมาย เผยเตรียมโครงการใหม่รวมกว่า 2,000 เมกะวัตต์ พร้อมเข้ายื่นประมูลทั้งในและต่างประเทศ หลังประเมินโควตาพลังงานลมในประเทศยังมีรออยู่มากกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ผลประกอบการ 2567 สุดแข็งแกร่ง รายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ติดต่อกันเป็นปีที่ 5

เขาเล่าอีกว่า ผลประกอบการ ปี 2567 ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยมีรายได้รวม 11,313 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 5,388 ล้านบาท นับเป็นปีที่ 5 ต่อเนื่องกันตั้งแต่ปี 2563 ที่มีรายได้ในระดับ 10,000 ล้านบาท และเป็นปีที่ 4 ต่อเนื่องกัน ที่มีกำไรมากกว่า 5,000 ล้านบาท

ผลประกอบการปี 2567 อยู่ในระดับแข็งแกร่งต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า จากปริมาณกระแสลมที่เอื้อต่อการผลิตไฟฟ้า และการเตรียมความพร้อมของกังหันลมผลิตไฟฟ้าในระดับดีเยี่ยม ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ ขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ที่ 0.74 ลดลงจาก 1.01 ในปีก่อนหน้า จากการชำระคืนสินเชื่อให้แก่สถาบันการเงิน ส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ปี 2567 ยังอยู่ในระดับสูงที่ 9,570 ล้านบาท จากฐานธุรกิจที่มั่นคง ทำให้บริษัทฯ สามารถจ่ายปันผล ผู้ถือหุ้น และผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นกู้ ได้ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

วินด์ เอนเนอร์ยี่ ชี้ “พลังงานลม” ในไทยบูม-ลุยลงทุนต่อเนื่อง

ทิศทางพลังงานหมุนเวียนสดใส – พร้อมเข้าร่วมประมูลทุกรอบ

นายณัฐพศิน กล่าวว่า เมื่อมองภาพรวมในประเทศ ยังมีโควตาพลังงานลมให้เราเข้าไปแข่งขันรวมอย่างน้อยประมาณ 5,745 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานลมภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับปัจจุบัน ที่ยังไม่เปิดประมูล ประมาณ 400 เมกะวัตต์ รวมกับ โครงการพลังงานลมใหม่ 5,345 เมกะวัตต์ ภายใต้ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 - 2580 (PDP 2024) ฉบับรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นแผนถัดไป และในฐานะที่ WEH เป็นผู้บุกเบิกพลังงานลมในไทย เป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม จึงมั่นใจว่ามีศักยภาพมากพอในการตอบโจทย์พลังงานหมุนเวียนของประเทศ

อย่างไรก็ตามขณะนี้ WEH พัฒนาโครงการไว้พร้อมเข้ายื่นประมูลเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้แก่ภาครัฐหลายโครงการ คิดเป็นปริมาณเสนอขายรวมมากกว่า 2,000 เมกะวัตต์ ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยยังคงมุ่งเน้นในพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีศักยภาพ

คว้าโรงไฟฟ้าใหม่ 4 โครงการ – บรรลุเป้าหมาย เติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ WEH ชนะประมูล ได้รับเลือกเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้แก่ภาครัฐ ตามประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เฟส 1 และ เฟส 2 ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) รวม 4 โครงการใหม่ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 299.1 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบมีระบบกักเก็บพลังงานติดตั้งบนพื้นดิน 1 โครงการ ขนาด 30 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการ โครงการละ 89.7 เมกะวัตต์ รวม 269.1 เมกะวัตต์  ทั้งหมดนี้ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 15,700 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ มีความพร้อมทางด้านเงินลงทุนแล้ว คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ของโครงการทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2570 จนครบทั้งหมดในปี 2573

สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ 4 โครงการนี้ ทำให้ธุรกิจไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 จากปัจจุบัน 717 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 1,016 เมกะวัตต์ ถือเป็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่โรงไฟฟ้าแห่งล่าสุดของบริษัทฯ จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปเมื่อปี 2561 และบรรลุเป้าหมายปี 2564 ที่ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณเสนอขายไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐแตะระดับ 1,000 เมกะวัตต์

ภายใต้แผนพัฒนาธุรกิจไฟฟ้า ที่อ้างอิงตามแผน PDP ของประเทศ ประเมินว่าเมื่อสิ้นสุดแผน PDP 2024 ในปี 2580 ตั้งเป้าได้รับปริมาณเสนอขายไฟฟ้าให้แก่ภาครัฐเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ และมีรายได้รวมประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี

เปิดพอร์ทไฟฟ้าแข็งแกร่ง – รุกธุรกิจอสังหาฯ สุขภาพ และบริการทางการเงิน

นายณัฐพศิน กล่าวว่า ภาพรวมกลุ่มธุรกิจของ WEH ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. กลุ่มธุรกิจพลังงาน เป็นพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 100 ได้รับอนุญาตจากภาครัฐ รวม 1,016 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้า 12 โครงการ แบ่งเป็น กลุ่มที่ COD แล้ว 717 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานลม 8 โครงการ และกลุ่มที่มีกําหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ที่ระบุในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (SCOD) ขนาดรวม 299 เมกะวัตต์ จาก 4 โครงการ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบมีระบบกักเก็บพลังงานติดตั้งบนพื้นดิน 1 โครงการ และพลังงานลม 3 โครงการ

2. กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ และบริการทางการเงิน ผ่านการลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ภาพของ วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป เข้าสู่ยุคของการเติบโต ขยายกิจการในพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานลม เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และในฐานะบริษัทโฮลดิ้ง เรายังมองหาโอกาสในธุรกิจที่มีศักยภาพ เข้ามาในพอร์ทของเรา เพื่อเสริมศักยภาพทางธุรกิจในระยะยาว

•สานต่อภารกิจลดคาร์บอนไดออกไซด์ ขยายคาร์บอนเครดิต

นายณัฐพศิน กล่าวว่า WEH ยังสานต่อภารกิจด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยปี 2567 ปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานลมที่บริษัทฯ ผลิตได้ เทียบเท่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง รวม 938,943 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) หรือเทียบเท่าต้นไม้ช่วยฟอกอากาศประมาณ 41 ล้านต้น (คำนวณจากไม้ยืนต้นโตเต็มที่ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 2 กิโลกรัมต่อปี) หากบริษัทฯ ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน จะยิ่งเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง ได้มากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ บริษัทฯ ใช้มาตรฐานการตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตระดับโลก ประกอบด้วย Gold Standard และ VERRA ซึ่งปีที่ผ่านมา ได้จำหน่ายคาร์บอนเครดิตรวมประมาณ 810,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทำให้ระหว่างปี 2564 – 2567 บริษัทฯ จำหน่ายคาร์บอนเครดิตได้รวมทั้งสิ้น 3.48 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยทั้งหมดนี้จำหน่ายให้แก่ผู้ซื้อในสหรัฐอเมริกา และกลุ่มสหภาพยุโรป โดยกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ และการบิน

นอกจากนี้ ระหว่างปี 2562 – 2567  บริษัทฯ จัดทำใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน IREC  (International Renewable Energy Certificate Standard) ได้รวม 506,455 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) โดยใบรับรอง IREC กำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในตลาดโลก เพราะมีกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% (RE100) ซึ่งประกอบด้วย องค์กรระดับโลก เช่น Apple, Google, Microsoft, Ikea ต้องการใบรับรอง เพื่อยืนยันการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นความตื่นตัวระดับองค์กรต่อการใช้พลังงานหมุนเวียน ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

              

related