svasdssvasds

ดีเดย์! เปิดรับซื้อไฟฟ้า "พลังงานหมุนเวียน" 8 ต.ค.นี้ 198 ราย เงื่อนไขยังไง?

ดีเดย์! เปิดรับซื้อไฟฟ้า "พลังงานหมุนเวียน" 8 ต.ค.นี้ 198 ราย เงื่อนไขยังไง?

ข่าวดีสำหรับผู้ต้องการขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด กกพ.รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 2,180 เมกฯ 8 ต.ค. เงื่อนไขมีอะไรบ้าง ตามประกาศ กกพ. ในรูปแบบ FiT ปี 2565 - 2573 กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เพิ่มเติม

SHORT CUT

  • ไทยเดินหน้าในเรื่องนี้เพื่อไปสู่เป้าหมายของประเทศไทยที่จะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050
  • ก่อนหน้านี้ได้มีโครงการไฟฟ้าชุมชนทั้งเฟส 1 ที่เซ็นไปแล้ว 43 ราย กำลังการผลิต 149.50 เมกะวัตต์ และเฟส 2 จำนวน 400 เมกะวัตต์
  • ล่าสุดได้มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจาก พลังงานหมุนเวียน 8 ต.ค.67 นี้ จำนวน 198 ราย ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

ข่าวดีสำหรับผู้ต้องการขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด กกพ.รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 2,180 เมกฯ 8 ต.ค. เงื่อนไขมีอะไรบ้าง ตามประกาศ กกพ. ในรูปแบบ FiT ปี 2565 - 2573 กลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 เพิ่มเติม

ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าสู่พลังงานสะอาด ไทยเองก็เดินหน้าในเรื่องนี้เพื่อไปสู่เป้าหมายของประเทศไทยที่จะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 350 ล้านตัน สูงในอันดับต้นๆ ของโลก ภาคส่วนที่ต้องมีการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญคือ ภาคพลังงาน ภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง ซึ่งภาครัฐได้มีการวางแผนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นขั้นตอน

 

ส่วนของการใช้พลังงานภาคครัวเรือน และขนส่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันปีละประมาณ 250 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยในแผนพัฒนาจะมีการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนต่างๆ สร้างสมดุลให้เกิดขึ้น ทั้งการผลิตจาก ลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์

สำหรับในภาคการขนส่งมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 80 ล้านตัน ประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ไม่น้อยกว่า 50% จึงผลักดันนโยบายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)30@30 โดยตั้งเป้าการผลิตในประเทศประมาณ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศในปีค.ศ.2030 หรือให้มีการการผลิต EV ในประเทศ 7 แสนคันต่อปีภายใน 8 - 9 ปีต่อจากนี้ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และรักษาศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภาพรวมไว้

โดยก่อนหน้านั่นรัฐบาลออกมายืนยันว่าจะทำพลังงานสะอาดแม้ต้องมีต้นทุนที่แพงขึ้น เช่น การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากนำมาคำนวนผลที่ได้รับคือ พลังงานสะอาดจะพบว่าต้นทุนดังกล่าวไม่แพงเพราะจะมีผลพลอยได้จากส่วนอื่น เช่น ภาพรวมความน่าเชื่อถือการลงทุน และสภาพแวดล้อมที่ดี

สำหรับโครงการพลังงานสะอาดในประเทศขณะนี้ ได้เดินหน้าโครงการไฟฟ้าชุมชนทั้งเฟส 1 ที่เซ็นไปแล้ว 43 ราย กำลังการผลิต 149.50 เมกะวัตต์ และเฟส 2 จำนวน 400 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างทำแผนที่ราคาไม่สูงมาก อีกทั้งประชาชนในชุมชนได้ประโยชน์โดยปลูกพืชขายป้อนโรงไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ เพื่อให้ทันกับยุคปัจจุบัน

ล่าสุด ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ. กำหนดกรอบระยะเวลาและกระบวนการเพื่อประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้ประกาศ กกพ. เรื่อง รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) ตามมติ กกพ. ดังนี้

  • การไฟฟ้าออกประกาศกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน สถานที่ ระยะเวลา รวมทั้งเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อไฟฟ้า วันที่ 8 ตุลาคม 2567
  • ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมยื่นแบบการแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมการคัดเลือกโครงการ จำนวน 2 ชุด (ต้นฉบับ 1 ชุด และสำเนา 1 ชุด) พร้อมวางหลักประกันการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า (Proposal Bond) มีกำหนด 30 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดตามกระบวนการที่ 1 ในเวลาทำการไม่เกิน 16.00 น.
  • การไฟฟ้าประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการ มีกำหนด 7 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดตามกระบวนการที่ 2
  • สำนักงาน กกพ.ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกภายใน 30 วัน นับถัดจากวันครบกำหนดตามกระบวนการที่ 3
  • การไฟฟ้าแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม ที่ได้รับการคัดเลือกทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ภายใน 14 วัน นับถัดจากวันที่สำนักงาน กกพ. ประกาศรายชื่อตามกระบวนการที่ 4
  • ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามกำหนดวัน SCOD ที่ได้รับการคัดเลือกภายใน 180 วัน นับตั้งแต่ครบกำหนด กระบวนการที่ 5 (กรณีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 2569) หรือภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ครบกำหนดกระบวนการที่ 5 (กรณีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 2570 - 2573)

ไทยเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

อย่างไรก็ตามภายใต้ประกาศดังกล่าว กกพ. ได้กำหนดเงื่อนไขโดยจะให้สิทธิ์กับกลุ่มผู้ที่เคยยื่นข้อเสนอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 จำนวน 198 ราย

ทั้งนี้ได้ผ่านเกณฑ์พร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ภายใต้โครงการ แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว เนื่องจากการจัดหาไฟฟ้าได้ครบตามเป้าหมายแล้ว สำหรับการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,180 เมกะวัตต์ จัดแบ่งสัดส่วนและลำดับการพิจารณาแต่ละประเภทโดยจะพิจารณาโครงการจากพลังงานลม ไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ เป็นลำดับแรก หลังจากนั้นจะตามด้วยโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังระบุเงื่อนไขในการพิจารณาปรับเพิ่มปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นลำดับสุดท้าย และยินยอมปรับลดปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่ให้เกินกว่าปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายตามคำเสนอขายไฟฟ้าเดิม

ขณะเดียวกัน กกพ. ยังสามารถพิจารณาปรับเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้ารายปีได้ตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับผลคะแนนความพร้อมด้านเทคนิค คำเสนอขายไฟฟ้า กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) และศักยภาพระบบไฟฟ้า โดยไม่ให้เกินกรอบเป้าหมายรวมของแต่ละประเภทเชื้อเพลิง

ใครที่กำลังจะขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเข้ารัฐต้องเตรียมตัวให้พร้อมตามเงื่อนที่นำเสนอเบื้องต้น ซึ่งเรื่องนี้เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมเรื่องพลังงานสะอาดของไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

related