จากคำกล่าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ที่อ้างว่าการสร้าง 'กังหันลม' เป็นอันตรายต่อสัตว์มากกว่า เมื่อเทียบกับผลกระทบจากน้ำมันและก๊าซ เป็นความจริงหรือไม่?
ผลกระทบของการผลิตพลังงานต่อสัตว์ป่า เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง ท่ามกลางแผนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ที่จะยุติโครงการสนับสนุนแหล่งพลังงานทดแทนอย่างพลังงานลม กลับมาสนับสนุนการใช้น้ำมันและก๊าซแทน โดยให้เหตุผลว่า 'ฟาร์มกังหันลมเป็นอันตรายต่อสัตว์อย่างนกและวาฬ' ฝ่ายบริหารของเขาจึงสั่งให้หยุดการพัฒนาฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง เพื่อให้ความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล
แม้ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยจะยืนยันว่า ฟาร์มกังหันลมอาจส่งผลเสียต่อสัตว์ป่าในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของพวกมันได้จริง เช่นการกีดขวางเส้นทางสัญจร และการส่งเสียงรบกวน แต่แอสเพน เอลลิส นักชีววิทยาด้านนกทะเลจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ ที่ใช้เวลากว่าสิบปีทำงานภาคสนามบนเกาะห่างไกลเพื่อศึกษาวิธีชีวิตของนกหลายพันตัว ได้ออกมาโต้คำกล่าวอ้างของทรัมป์
เอลลิสอธิบายว่า แม้พลังงานลมจะสร้างความเสียหายต่อสัตว์ป่ามากกว่าการสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่มันยังคงเป็นอาวุธที่ทรงพลังและมีความจำเป็นในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมให้เหตุผลว่า เราสามารถทำความเข้าใจ จัดการ และบรรเทาผลกระทบที่มีต่อสัตว์ป่าได้ ขณะที่เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมถึงเสียงรบกวนและมลพิษจากการผลิตน้ำมันและก๊าซ ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมในระยะยาวมากกว่า
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายในครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ท้าทายที่สุดที่ทั่วโลกต้องเผชิญ นั่นคือการยอมรับผลกระทบของการพัฒนาพลังงานลม และต้องสร้างสมดุลระหว่างผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นกับผลกระทบระดับโลกของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ได้
การก่อตั้งโครงการฟาร์มกังหันลมทั้งบนบกและในทะเลมีความเสี่ยงต่อนก เช่น การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและการชนกับกังหันลมหรือใบพัด ส่วนนกทะเลก็อาจต้องเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงการบินชน ทำให้ต้องใช้เวลาและพลังงานมากขึ้นในการหาอาหาร
ขณะที่งานวิจัยจากทั่วโลกก็ชี้ให้เห็นว่า การผลิตน้ำมันส่งผลกระทบต่อนก วาฬ และสัตว์ป่าอื่นๆ ในรูปแบบต่างๆ มากมาย นอกเหนือจากปัจจัยด้านสภาพอากาศแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของน้ำมันอีกด้วย