การขุดแร่ลิเทียมใช้น้ำจืดถึง 1.8 ล้านลิตรต่อ 1 ตัน โดยเฉพาะใน Lithium Triangle ส่งผลกระทบต่อชุมชนพื้นเมือง เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม
ว่ากันว่าความรุ่งเรือง หรือการเฟื่องฟูขึ้นมาของสิ่ง อาจต้องแลกมากับการลดน้อยถอยลงไปของบางอย่าง ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนไม่มีเหลือให้เห็นอีก
ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journals of Gerontology พบว่า ปริมาณน้ำจืดในแหล่งขุดแร่ลิเทียมแห่งสำคัญของโลกอย่าง “Lithium Triangle” มีปริมาณต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ประมาณ 10 เท่า นักวิจัยกังวลว่าอีก 5 ปี ความต้องการแร่ลิเทียมจะเพิ่มขึ้นอีก 40 เท่า
Lithium Triangle คือแหล่งขุดแร่ลิเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก กินพื้นที่ 3 ประเทศ ได้แก่ ชิลี โบลิเวีย และอาร์เจนตินา ซึ่งถือครองทรัพยากรแร่ลิเทียมอยู่ราว 56% ของโลก ทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของตลาด EV ทั่วโลก
แต่สิ่งที่มักไม่ถูกนำเสนอก็คือ การขุดแร่ลิเทียมนั้นใช้น้ำเยอะมาก งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า การจะขุดแร่ลิเทียมมาให้ได้สัก 1 ตัน ต้องใช้ปริมาณน้ำราว 500,000 แกลลอน หรือราว 1.8 ล้านลิตร แทนที่จะนำไปหล่อเลี้ยงชุมชน การทำเกษตรของชาวบ้านในบริเวณ Lithium Triangle
แม้เราเข้าใจกันดีว่าแร่ลิเทียมนั้นจำเป็นสำหรับแบตเตอรี่ที่ใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า และกักเก็บพลังงานที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แผงโซลาร์เซลล์ แต่ผู้วิจัยเสนอว่าเราวางแผนการใช้น้ำให้มีประโยชน์ต่อมนุษย์ด้วยกันมากกว่านี้
“พวกเราชาวชุมชนพื้นเมืองขอปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน อันก่อให้เกิดการยึดครองดินแดน มลภาวะ และการสูญเสียแหล่งน้ำ” จิเมนา ครูซ มามานี ตัวแทนสภาประชาชนอาตากาเมโญในชิลี กล่าว
ต้องบอกว่าการเติบโตของการทำเหมืองลิเทียมในทวีปอเมริกาใต้ ได้จุดชนวนให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวาง ซึ่งบางกรณีนำไปสู่ความรุนแรง อย่างเช่นในปี 2024 ตำรวจได้โจมตีชนพื้นเมืองที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านการทำเหมืองในจูจูย ประเทศอาร์เจนตินา
แหล่งน้ำจืดถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการขุดลิเทียมบริเวณ Lithium Triangle เพราะบรรดาบริษัทเหมืองแร่สกัดลิเทียมจากแหล่งน้ำ และทำให้แร่ธาตุเข้มข้นขึ้นด้วยวิธีการระเหย ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้น้ำจืดจำนวนมาก โดยอาศัยการดึงมาจากแหล่งน้ำใต้ดิน ขณะเดียวกัน ระดับน้ำในแหล่งน้ำใต้ดินเหล่านี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนประจำปี
อย่างไรก็ดี นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องขบให้แตกว่าจะเอาอย่างไร เมื่อยานยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ หรืออื่น ๆ ถูกมองว่าเป็นตัวช่วยในยุคโลกร้อน ปล่อยมลพิษต่ำ ฯลฯ ขณะเดียวกัน กระบวนการผลิตพวกมันก็ทำลายสิ่งแวดล้อมไปด้วย
ทีมนักวิจัยทิ้งท้ายว่า งานวิจัยเกี่ยวกับน้ำและการขุดลิเธียม ต้องมีคนทำออกมาอีกเยอะ ๆ เพราะอย่าลืมว่าไม่ใช่แค่โซนอเมริกาใต้เท่านั้น ในสหรัฐอเมริกาก็เป็นอีกประเทศที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดว่ามีการสูบน้ำจืดจำนวนมากจนภูมิภาคต่าง ๆ เกิดความแห้งแล้ง
ที่มา: nbcnews
ข่าวที่เกี่ยวข้อง