ลิเทียมไทยอันดับ 3 ของโลก ได้แค่วันเดียวเท่านั้น หลังกรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ร่อนถ้อยแถลง วอนอย่าเข้าใจผิด Mineral Resource ไม่เท่ากับ Lithium Resource ไปเปรียบกับประเทศอื่น ๆ ไม่ได้
ถือเป็นข่าวอึกทึกครึกโครมเขย่าวงการ EV อยู่ขนานใหญ่ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานค้นพบแหล่งแร่ลิเทียม 2 แหล่งที่ภาคใต้ของประเทศไทย จำนวนกว่า 14.8 ล้านตัน ได้แก่ “แหล่งเรืองเกียรติ” และ “แหล่งบางอีตุ้ม”
หลังเกิดกระแสแพร่สะพัดออกไปเป็นวงกว้าง รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นแถลงว่า ไทยค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมกว่า 14.8ล้านตัน ซึ่งส่งผลให้ไทยทะยานสู่อันดับ 3 ของโลก สำหรับประเทศที่มีค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุด รองจากโบลิเวียและอาร์เจนตินา
ล่าสุด กรมเหมืองแร่ฯ ออกมาชี้แจงแล้วว่า มีมีความเข้าใจผิดกันเล็กน้อย “Mineral Resource” หมายถึง ปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างกับ “Lithium Resource” หมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม
แร่ลิเทียมจำนวน 14.8 ล้านตันที่พบในแหล่งเรืองเกียรตินั้น ยังเป็นแค่ Mineral Resource ฉะนั้น หากนำไปเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% พบว่าเราจะได้ค่าLithium Resource สนนอยู่ที่ “6.66 หมื่นตัน” เท่านั้น
ดังนั้น จำนวนแร่ลิเทียม 14.8 ล้านตัน ที่เอาไปเทียบกับต่างประเทศถือเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะแท้จริงแล้ว หากนำค่า Lithium Resource ของไทย (6.66 หมื่นตัน) ไปเทียบกับต่างประเทศ ไทยไม่ติด Top 10 ของโลกด้วยซ้ำ
อัพเดทล่าสุด (20 ม.ค. 67) : รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงว่า
การนำเสนอข้อมูลก่อนหน้านี้ โดยเปรียบเทียบกับปริมาณสำรอง ของต่างประเทศนั้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อแสดงถึงข่าวดีของประเทศไทย กับการมีแหล่งวัตถุดิบสำคัญที่สามารถช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีปริมาณแร่ลิเทียม เป็นอันดับต้นๆของโลก
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่อนเอกสารชี้แจงว่า...
ตามที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เผยแพร่ข่าวว่ามีการพบแหล่งลิเทียมในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งแร่จากหินแข็งในพื้นที่แหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
โดยแหล่งลิเทียมเรืองเกียรติมีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน
หากออกแบบแผนผังการทำเหมืองอย่างเหมาะสมและสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ร้อยละ 25 คาดว่าจะสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคันนั้น
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอชี้แจงว่า คำว่า “Mineral Resource” มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “Lithium Resource” ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม
ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้
สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45%
แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า
อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติมหากมีการสำรวจในอนาคต
หลังจากที่ กระแสไทยพบแร่ลิเทียมที่ภาคใต้ 14.8 ล้านตัน และคาดว่าเป็นอับดับ 3 ของโลก เตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้นำตลาด EV รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ออกมาโพสต์ผ่านเฟสบุ๊ค อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยมีข้อความดังนี้
ผมว่านักข่าวน่าจะเข้าใจผิดกันนะครับ เพราะตัวเลข "14.8 ล้านตัน" ที่เป็นข่าวกัน ว่าเยอะเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เป็นปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่า "หินเพกมาไทต์ " ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่ เฉลี่ย 0.45% และจะต้องนำมาถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาก่อน เมื่อคำนวณคร่าว ๆ แล้ว ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6-7 หมื่นตัน แค่นั้นเองครับ !?
ตามรายละเอียดของข่าว ระบุว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ออกใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจำนวน 3 แปลง เพื่อสำรวจแหล่งลิเทียม ในพื้นที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา / พบหินอัคนีเนื้อหยาบมากสีขาว หรือ “หินเพกมาไทต์” ซึ่งเป็นหินต้นกำเนิดที่นำพา “แร่เลพิโดไลต์” สีม่วง หรือแร่ที่มีองค์ประกอบของลิเทียม มาเย็นตัวและตกผลึก จนเกิดเป็นแหล่งลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ "แหล่งเรืองเกียรติ" มีปริมาณสำรองประมาณ 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% (อยู่ในเกรดระดับกลาง) และ "แหล่งบางอีตุ้ม" ที่อยู่ระหว่างการสำรวจขั้นรายละเอียด เพื่อประเมินปริมาณสำรอง นอกจากนี้ ยังอาจจะพบได้ในอีกหลายแห่ง ในภาคใต้และภาคตะวันตก (จังหวัดราชบุรี) ที่ได้ออกใบอาชญาบัตรสำรวจแร่ลิเทียมไป 6 ราย
ซึ่งรายงานข่าวยังอ้างต่อว่า แหล่งลิเทียมเรืองเกียรตินี้ เป็นแหล่งที่มีปริมาณแร่ลิเทียม มากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศโบลิเวีย และอาเจนตินา หากได้รับประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่แล้ว (ในอีก 2 ปี) คาดว่าจะเริ่มทำเหมืองได้ และสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน
ซึ่งถ้าเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเทสล่า Tesla โมเดล S หนึ่งคัน ที่ใช้ธาตุลิเทียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.6 กิโลกรัม (อ้างอิง https://blog.evbox.com/ev-battery-weight) ถ้ามี 1 ล้านคัน ก็ใช้ลิเทียมไป 62.6 ล้านกิโลกรัม หรือเท่ากับ 62,600 ตัน แค่นั้นเอง !
ซึ่งตัวเลข 6.26 หมื่นตัน นี้ก็ใกล้เคียงกับปริมาณของธาตุลิเทียมที่คำนวณจากหินเพกมาไทต์ จากแหล่งเรืองเกียรติ ปริมาณประมาณ 14.8 ล้านตัน และมีเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งก็เท่ากับมีลิเทียมอยู่ 0.0666 ล้านตัน หรือ 6.66 หมื่นตัน !
นอกจาก อาจารย์เจษฎา จะออกมาคำนวณตัวเลขให้ดูแล้ว ยังมีอีกหนึ่งท่านได้แก่ "ลอย ชุนพงษ์ทอง" หรือ อ.ลอย นักคณิตศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์คำนวณ ออกมาชี้แจงผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว สรุปใจความได้ดังนี้
1. สินแร่(หิน) Lepidolite 25 ล้านตัน ไม่ใช่ลิเธียมออกไซด์ 25 ล้านตัน ตามที่ตีข่าวใหญ่โต มีลิเธียมออกไซด์ ไม่เกิน 0.45% ของหินชนิดนี้ ที่แหล่งนี้
2. แหล่งเล็กมาก ต่อให้เอา 2 แหล่ง และต่อให้มีหินแร่รวมกัน 25 ล้านตัน ก็คาดว่าขุดหินแร่มาใช้ได้อย่างเก่งแค่ 10 ล้านตัน ถ้าแยกแร่ได้ดีเยี่ยม ก็เหลือลิเธียมออกไซด์ไม่เกิน 3 หมื่นตัน
3. ที่สำคัญสุดคือเกรดห่วย ต่อให้นำสินแร่ขึ้นมาได้ ยกสินแร่ให้ผมฟรี ๆ ผมก็ไม่เอาครับ เพราะเกรดต่ำมาก 0.45% ปรกติเกรดที่คุ้มค่าการลงทุนแต่งแร่ คือ 0.9% ค่าสกัดให้เป็นลิเธียมออกไซด์ ต่อตันอาจแพงกว่าราคานำเข้าเสียอีก ประมาณว่า แหล่งนี้ต้องใช้หินแร่(สินแร่)ถึง 300 ตัน จึงจะสกัดลิเธียมออกไซด์ได้ 1 ตัน
ที่มา: อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ , กพร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง