ข่าวดี! พบแหล่ง “แร่ลิเธียม-โซเดียม” 2 แหล่ง เป็นวัตถุดิบสำคัญผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ยืนยันแล้ว ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่นี้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก
แร่ลิเทียม แร่โซเดียม มีความสำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ล่าสุดมีข่าวดีหลัง นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งสำรวจจนพบแหล่งแร่ลิเทียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม ที่ภาคใต้ของไทย จากการค้นพบในครั้งนี้ ไทยยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก
ทั้งนี้แร่ทั้งสองชนิดนี้ถือเป็น แร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% เสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาค
สำหรับการค้นพบแร่ศักยภาพลิเทียม-โซเดียม ครั้งนี้นับเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ครอบครองแร่ลิเธียมมากที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงาน ท่ามกลางการแข่งขันของนานาประเทศ เพื่อให้ไทยมุ่งสู่การเป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค
ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า ความต้องการลิเทียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปีพ.ศ. 2568 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตันภายในปีพ.ศ. 2573
“การเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การค้นพบแร่ 2 ชนิดที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ EV จะทำให้ไทยลดการนำเข้าและพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น และการค้นพบนี้จะทำให้ไทยกลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญยิ่งในแผนที่โลกในการก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV” นางรัดเกล้า กล่าว
สอดคล้องกับผลวิจัยของ “ ผศ.ดร.อลงกต ฝั้นกา” หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแร่และศิลาวิทยาประยุกต์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันแหล่งทรัพยากรลิเทียมในภาคใต้ของไทยคุณภาพสูงคุณภาพสูงเทียบเท่าแหล่งต่างๆ ทั่วโลก
โดยผลงานวิจัยด้านลักษณะเฉพาะและศักยภาพของแหล่งลิเทียมในจังหวัดพังงา ภาคใต้ของไทย พบเป็นแหล่งลิเทียมที่อยู่ในแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) มีลักษณะเป็นแร่แผ่นสีม่วงอมชมพูที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) ซึ่งเป็นหินอัคนีเนื้อผลึกหยาบและสัมพันธ์กับแหล่งแร่ดีบุกของไทยอย่างชัดเจนอีกด้วย โดยพบว่าแหล่งลิเทียมในภาคใต้ของไทยนี้มีความสมบูรณ์ของลิเทียมสูงเฉลี่ยประมาณ 0.4 % ถือเป็นแหล่งลิเทียมที่มีความสมบูรณ์สูงกว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก
อย่างไรก็ตามผลการวิจัยสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าแหล่งลิเทียมในแร่เลพิโดไลต์ที่พบอยู่ในหินเพกมาไทต์ในภาคใต้ของไทยนี้เกิดจากการตกผลึกของแมกมาที่ความสัมพันธ์กับหินแกรนิตที่กระจายตัวในพื้นที่ภาคใต้และต่อเนื่องมายังพื้นที่อื่นๆ ของไทย ซึ่งผลการวิจัยแหล่งลิเทียมในภาคใต้นี้สามารถเป็นแนวทางสู่การสำรวจแหล่งลิเทียมในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศเพื่อเพิ่มขอบเขตแหล่งศักยภาพลิเทียมได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งยังพบว่า แหล่งลิเทียมดังกล่าวเกิดมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่ประเภทอื่นๆ อย่างชัดเจนด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดีบุกและธาตุหายาก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สามารถขยายผลสู่การสำรวจและพัฒนาทรัพยากรเพื่อกระตุ้นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลังงานและเทคโนโลยีและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้
แน่นอนว่า “แหล่งลิเทียม” ภาคใต้ ที่มีคุณภาพสูงเทียบชั้นแหล่งสำคัญๆของโลก ในอนาคตจะเป็นแหล่งผลิตแบตเตอรี่ EV แห่งใหม่ของไทย รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ !
ข่าวที่เกี่ยวข้อง