แร่ลิเทียมคืออะไร? ทำไมนักลงทุนพลังงานสะอาดจึงสนใจ ประเทศไทยค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกจริงไหม และเหมืองแร่ลิเทียมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?
แร่ลิเทียม (Lithium) คือโลหะที่เบาที่สุดในบรรดาโลหะทั้งปวง มีความหนาแน่นครึ่งหนึ่งของน้ำ มีสัญลักษณ์ในตารางธาตุคือ (Li) ทนความร้อนได้สูง
ส่วนใหญ่แร่ลิเทียมจะถูกนำไปทำเป็นวัตถุดิบสำหรับแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ถ่านไฟฉาย จาระบีลิเทียม รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังมีความต้องการลิเทียมสูงในตลาด EV Car ตอนนี้
เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศการค้นพบแหล่ง “แร่ลิเทียม” วัตถุดิบสำหรับผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในจังหวัดพังงา ภาคใต้ของไทย ซึ่งมีปริมาณสำรอง (Resources) 14.8 ล้านตัน เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% โดยคาดว่ามากเป็นอันดับ 3 ของโลก?
งานวิจัยโดย ผศ.ดร.อลงกต ฝั้นกา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยแร่และศิลาวิทยาประยุกต์ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า แหล่งทรัพยากรลิเทียมที่พบในภาคใต้ของไทยดังกล่าว มีคุณภาพสูงเทียบเท่าแหล่งแร่ต่าง ๆ ทั่วโลก
โดยผลงานวิจัยเผยว่า ลิเทียมที่ค้นพบ อยู่ในแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) มีลักษณะเป็นแร่แผ่นสีม่วงอมชมพูที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) ซึ่งเป็นหินอัคนีเนื้อผลึกหยาบและสัมพันธ์กับแหล่งแร่ดีบุกของไทยอย่างชัดเจนอีกด้วย โดยพบว่าแหล่งลิเทียมในภาคใต้ของไทยนี้มีความสมบูรณ์ของลิเทียมสูงเฉลี่ยประมาณ 0.4 % ถือเป็นแหล่งลิเทียมที่มีความสมบูรณ์สูงกว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก ดังนั้น Springnews ขอชวนไปดูว่า ไทยจะมีแหล่งแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกได้จริงไหม?
ข้อมูลจาก U.S. Geological Survey หรือ สำนักงานธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา อัปเดตเดือนมกราคม 2023 เผยข้อมูลประเทศที่มีแร่ลิเทียม (Resource) มากที่สุดในโลก ดังต่อไปนี้
การผลิตลิเทียม ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งหวังไปที่การเพิ่มกำลังการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น มิใช่แค่มีปริมาณมากก็สามารถเป็นเจ้าแห่งลิเทียมได้ แต่ต้องมาพร้อมกับศักยภาพเทคโนโลยี การจัดการ ประสิทธิภาพและกำลังการผลิตด้วย ซึ่งประเทศดังต่อไปนี้คือประเทศที่ผลิตลิเทียมได้มากที่สุดในโลก (ข้อมูลล่าสุดปี 2022 โดย USGS)
จริงหรือไม่ ไทยจะเป็นประเทศลำดับ 3 ที่มีแหล่งแร่ลิเทียมมากที่สุดในโลก
การคาดหวังว่าจะเป็นอันดับ 3 ของโลกยังต้องมีการประเมินอีกหลายปัจจัย ด้านศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เผยว่า การค้นพบแร่ลิเทียมครั้งนี้อาจไม่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกดังที่กระทรวงอุตสาหกรรมหรือที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) คาดหวัง
เพราะเราพบแร่ลิเทียม ในหินแร่ที่ชื่อว่าเพกมาไทต์ อีกทีหนึ่ง ซึ่งมีการปะปนของแร่ลิเทียมเฉลี่ย 0.45% เราจะต้องนำไปถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาก่อน เมื่อคำนวณคร่าว ๆ ก็น่าจะอยู่ประมาณ 6-7 หมื่นตันเท่านั้น
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอ้างว่า จำนวนดังกล่าวสามารถผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน ซึ่งมันเพียงพอสำหรับ 1 ล้านคันจริงหรือไม่?
อาจารย์เจษฎา คำนวณว่า หากเทียบกับ Tesla โมเดล S หนึ่งคัน ใช้ลิเทียมสำหรับทำแบตเตอรี่ประมาณ 62.2 กิโลกรัม ถ้าจะให้ได้ 1 ล้านคัน ก็ต้องใช้ลิเทียมไป 62.2 ล้านกิโลกรัม หรือ 62,600 ตัน
ซึ่งจำนวน หกหมื่นตันตรงนี้ ใกล้เคียงกับปริมาณของลิเทียมในเพกมาไทต์ จากแหน่งเรืองเกียรติ ปริมาณ 14.8 ล้านตัน และมีเกรดลิเทียมออกไซต์เฉลี่ย 0.45% ซึ่งเท่ากับมีลิเทียมอยู่ 0.0666 ล้านตัน หรือ 6.66 หมื่นตัน ซึ่งถ้าเอา 6 หมื่นตันไปเทียบกับจำนวนของแต่ละประเทศทั่วโลก ไทยไม่ติดใน Top 10 เลย
ในแง่มุมของผลกระทบเหมืองแร่ลิเทียมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมนั้นถูกกล่าวขานกันมานานหลายทศวรรษ ว่าสุดท้ายแล้ว การที่เรายอมแลกทรัพยากรธรรมชาติกับอนาคตตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่แน่นอนนั้นคุ้มค่าหรือไม่? ปัจจัยใหญ่ ๆ ที่เหมืองแร่ลิเทียมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ
การทำเหมืองต้องใช้พื้นที่เพื่อการตั้งรกรากแคมป์คนงาน การคมนาคม การขนส่ง ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ให้สะดวกต่อการทำเหมือง แต่เมื่อระบบนิเวศถูกเปลี่ยนไปเป็นเหมือง จะส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นและสัตว์ป่าต้องอพยพหนี
การศึกษาจาก The Wall Street Journal ในปี 2019 เผยว่า 40% ของผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศทั้งหมดเกิดจากการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่มาจากการขุดเหมือง
กรดซัลฟิวริก และโซเดียมไฮดรอกไซด์ เป็นสารหนึ่งที่ใช้ในการสกัดลิเทียม เมื่อเหมืองมีการสกัดแร่ลิเทียม สารเหล่ามีโอกาสอย่างมากในการแทรกซึมลงไปในดินและน้ำ เป็นพิษต่อระบบนิเวศ และเสี่ยงให้สัตว์ได้รับสารพิษ จนนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
อย่าง งานวิจัยจากวารสาร Proceedings of the Royal Society เผยว่า นกฟลามิงโก 2 สายพันธุ์ในชิลีถูกคุกคามเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากการขุดลิเทียม
นอกจากนี้ การคมนาคมการขับรถบรรทุกเข้าออกและการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นบริเวณเหมือง สามารถปล่อยมลพิษฝุ่นควันให้กับระบบนิเวศโดยรอบและปล่อยกาวเรือนกระจกจำนวนมหาศาลออกมา
รายงานได้ยกตัวอย่าง ชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ที่ได้รับผลกระทบทางลบจากการขุดเหมืองลิเทียม กิจกรรมดังกล่าวได้ผลักดันให้คนท้องถิ่นหลายร้อนคนต้องเดินออกจากดินแดนที่พวกเขาเคยเรียกว่าบ้าน เนื่องจากแม้เป็นพื้นที่ของพวกเขา แต่ก็ไม่สามารถชนะอำนาจของเอกชนได้
หรือชุมชนพื้นเมืองในทะเลทรายอาตากามาของชิลี แหล่งน้ำของพวกเขาเผชิญหน้ากับการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายในสิ่งแวดล้อม จากบริษัทเหมืองแร่ 2 แห่งที่ตั้งอยู่แถวนั้น ซึ่งเคลมตัวเองว่า บริษัทกำลังสร้าง “พลังงานที่ยั่งยืน”
ประเด็นของการพบแร่ลิเทียม อาจสร้างเสียงฮือฮาในสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับตลาดยานยนต์ไฟฟ้า การพบแร่ลิเทียมสร้างความคาดหวังในสังคมว่าราคาแบตเตอรี่ใน EV CAR อาจจะถูกลง แต่คำถามสำคัญคือ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่?
การมีแร่ลิเทียมของตนเองจะทำให้รถอีวีในประเทศถูกลงอย่างไร (หากหันไปดูประเทศโบลิเวียและชิลี ที่แม้มีมากสุด แต่ก็ไม่ได้รุ่มรวยขนาดนั้น) ใครได้ประโยชน์บ้าง? ต้องแลกกับทรัพยากรธรรมชาติมากแค่ไหน มีการจัดการอย่างไร ได้คุณภาพหรือเปล่า และคุ้มค่าหรือไม่? คุณล่ะคิดเห็นอย่างไร?
ที่มาข้อมูล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง