SHORT CUT
โดยเฉพาะลิเทียมไอออนที่คาดว่าภายในปี 2583 จะมีซากแบตเตอรี่ประเภทดังกล่าวมากถึง 7.8 ล้านตันต่อปี
จับตา! การกำจัดซาก "แบตเตอรี่EV" ที่ยังมีความท้าทาย เมื่อไทยยังขาดกฎหมาย ข้อบังคับที่เฉพาะเจาะจง เจอปัญหาการขาดแนวทางในการจัดการซากแบตเตอรี่ที่ชัดเจน และขาดการต่อยอดทางเทคโนโลยี
ประเทศไทยมุ่งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน จึงมีทั้งนโยบายด้านการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตรถ EV ของไทยอยู่ที่ประมาณ 4 แสนคันต่อปี และมียอดการจดทะเบียนรถ EV ในประเทศ ในปี 2566 โดยเฉพาะรถ BEV เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 16 เท่า ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้ ในอีกด้านหนึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาขยะอันตรายที่มาจากแบตเตอรี่ โดยเฉพาะลิเทียมไอออนที่คาดว่าภายในปี 2583 จะมีซากแบตเตอรี่ประเภทดังกล่าวมากถึง 7.8 ล้านตันต่อปี
ล่าสุด นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2567 พร้อมพูดถึงประเด็นซากแบตเตอรี่รถ EV จัดการอย่างไร ? พร้อมฉายภาพว่าหากจัดการอย่างไม่ถูกต้องจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ส่งผลให้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการจัดการแบตเตอรี่อย่างถูกต้องและเป็นระบบ
คือ 1) การกำหนดมาตรฐานการจัดการแบตเตอรี่ เพื่อควบคุมและจัดการซากแบตเตอรี่อย่างครบวงจร อาทิ สหภาพยุโรป (EU) ออกระเบียบว่าด้วยแบตเตอรี่ที่ครอบคลุมวงจรชีวิตของแบตเตอรี่เต็มรูปแบบ รวมทั้งมีการกำหนดเป้าหมายขั้นต่ำในการรีไซเคิลแบตเตอรี่และการออกมาตรการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าแบตเตอรี่รถ EV มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการและรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพควบคู่ไปด้วย
2) การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ซึ่งมีความจำเป็น เนื่องจากธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่รถ EV ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นส่งผลให้ได้ผลกำไรไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อาทิ ประเทศญี่ปุ่น มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลที่สามารถนำส่วนประกอบและวัตถุดิบกลับมาใช้ได้ในอัตราที่สูง และ 3) การพัฒนาระบบการติดตามสำหรับการจัดการแบตเตอรี่ เพื่อช่วยสนับสนุนให้มีการรวบรวมและแบ่งปันข้อมูลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน supply chain อาทิ ประเทศจีน มีการบังคับใช้นโยบายการติดตามข้อมูลอายุการใช้งานแบตเตอรี่ เพื่อให้บริษัทผู้ผลิตบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับแบตเตอรี่รถ EV ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการรีไซเคิล
สำหรับประเทศไทยการกำจัดซากแบตเตอรี่ยังเป็นประเด็นท้าทาย เนื่องจาก 1) การขาดกฎหมายและข้อบังคับที่เฉพาะเจาะจง 2) ปัญหาการขาดแนวทางในการจัดการซากแบตเตอรี่ที่ชัดเจน ส่งผลให้การจัดการซากแบตเตอรี่ยังถูกจัดรวมอยู่ในประเภทขยะอันตรายทั่วไป 3) ปัญหาการขาดการต่อยอดทางเทคโนโลยี ดังนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไทยต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติม คือ 1) การศึกษาและกำหนดมาตรฐานการจัดการซากแบตเตอรี่ที่มีความรัดกุม ปลอดภัย และครอบคลุมวงจรชีวิตของแบตเตอรี่ อาทิ การนำหลัก EPR มาปรับใช้เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การมีข้อกำหนดให้ผู้ใช้รถต้องมีส่วนในการรับผิดชอบตั้งแต่ซื้อรถจนเลิกใช้รถ
2) การสนับสนุนและส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การจูงใจให้มีการลงทุน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิล อาทิ มีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีด้านการรีไซเคิล การให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุน และการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่สำหรับรองรับอุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเตอรี่ และ 3) การมีระบบติดตามแบตเตอรี่ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการและรีไซเคิลแบตเตอรี่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง