SHORT CUT
ทำความรู้จัก Green Hydrogen หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว แหล่งพลังงานสะอาด ที่แทบจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ถูกมองว่าจะเป็นพลังงานอนาคตของโลกใบนี้
เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นอีกหนึ่งแขนงของนวัตกรรมที่ได้รับความสนใจทั่วโลก เนื่องจากสภาวะวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ส่งผลให้นานาชาติหันมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวิถีทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น หนึ่งในเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจคือ พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหัวใจของการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้คาร์บอน อย่างไรก็ตาม ยังมีพลังงานอีกชนิดหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างยิ่ง คือ Green Hydrogen หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสีเขียวที่สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ไฮโดรเจน คือ ธาตุที่สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม แต่ปัญหาสำคัญก็คือ การนำไฮโดรเจนออกมาใช้ต้องมีการแยกไฮโดรเจนจากสิ่งอื่น ๆ เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งกระบวนการผลิตจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในชั้นบรรยากาศ ดังนั้น ในกระบวนการดังกล่าวจัดได้ว่ายังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร
Green Hydrogen หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว จึงกลายเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยแก้ปัญหานี้ เนื่องจากวิธีการผลิต Green Hydrogen นั้น แทบจะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ การผลิตใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่มาจากแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ อาทิ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ Green Hydrogen เปรียบเสมือนพลังงานแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายระบบนิเวศวิทยา
โดยปกติก๊าซไฮโดรเจนสามารถถูกพบได้น้อยตามธรรมชาติ เช่น ใต้พื้นผิวโลก ไฮโดรเจนชนิดนี้ถูกเรียกว่า White Hydrogen ส่วนก๊าซไฮโดรเจนชนิดอื่น ๆ นั้นสามารถแบ่งได้ตามวิธีการสังเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วย 3 รูปแบบหลัก ได้แก่
นอกจากไฮโดรเจน 3 ชนิดหลักที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ยังมีไฮโดรเจนชนิดอื่น ๆ แยกย่อยอีก เช่น Brown Hydrogen ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมากในกระบวนการผลิต หรือ Turquoise Hydrogen ซึ่งใช้กระบวนการผลิตที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่บรรยากาศ รวมไปถึง Pink Hydrogen ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นเชื้อเพลิงการผลิต
นวัตกรรมการผลิต Green Hydrogen หรือ ไฮโดรเจนสีเขียว เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น จนมีหลากหลายประเทศลงทุนในโครงการ Green Hydrogen เช่น สหรัฐอเมริกา, จีน, ออสเตรเลีย, สเปน, ฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ เนื่องจากประโยชน์ที่จะได้จากการผลิต Green Hydrogen ดังนี้
ปัจจุบัน หลาย ๆ ประเทศบนเวทีโลกมีการประกาศจุดยืนในการมุ่งสู่ Net Zero โดยหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้คือการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานแบบเก่าสู่พลังงานแบบใหม่ (Energy Transition) ซึ่ง Green Hydrogen เป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่มีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้
ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลมจำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่เพื่อกักเก็บไฟฟ้า จึงมีข้อจำกัดในการใช้กับพาหนะขนส่งทางไกล เช่น เรือ และเครื่องบิน เนื่องจากขนาดและน้ำหนักของแบตเตอรี่ ในขณะที่ Green Hydrogen สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้
Green Hydrogen มีข้อได้เปรียบเหนือพลังงานสะอาดชนิดอื่น ๆ คือสามารถใช้กับระบบขนส่งเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันได้เลย เช่น ท่อส่งก๊าซ เรือ รถบรรทุก โดยไม่ต้องลงทุนหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ สามารถนำไปต่อยอดได้ทันที
ถึงแม้พลังงาน Green Hydrogen มีประโยชน์มากมายแต่ในขณะเดียวกันก็มีความท้าทายไม่น้อยเช่นกัน โดยปัจจุบันตลาดไฮโดรเจนสีเขียวมีขนาดเล็ก คิดเป็น 0.1% ของการผลิตไฮโดรเจนทั้งหมด ซึ่งต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้มีการเติบโตมากขึ้น สามารถใช้ Green Hydrogen ในราคาที่ถูกขึ้น เพื่อดึงดูดให้ภาคส่วนอื่น ๆ หันมาใช้พลังงานสะอาดชนิดนี้มากขึ้น
รายงานของ PwC ระบุว่า ประเทศที่มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าแต่อุดมไปด้วยแหล่งพลังงานหมุนเวียน กำลังพัฒนากลยุทธ์การผลิต และส่งออก Green Hydrogen ในทางกลับกัน ประเทศที่มีพื้นที่น้อย ประชากรหนาแน่น และมีทรัพยากรหมุนเวียนที่จำกัด จะเป็นผู้นำเข้า Green Hydrogen ซึ่งเห็นได้จากการที่ผู้ผลิตชั้นนำอย่างสเปนและออสเตรเลียเริ่มส่งออกพลังงานชนิดนี้ไปยังตลาดขนาดใหญ่อย่างเยอรมนีและญี่ปุ่น
นอกจากนี้ Deloitte คาดการณ์ว่าแม้แต่ประเทศที่มีขนาดใหญ่อย่างจีนก็จะมีความต้องการนำเข้า Green Hydrogen สูงถึง 13 พันล้านตัน ในขณะที่ผู้ผลิตชั้นนำอย่าง สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสเปน จะผลิตได้ราวประเทศละ 2 พันล้านตัน กล่าวโดยสรุปคือ โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มีอยู่มาก เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากประเทศทั่วโลกในอนาคต
แม้ว่า Green Hydrogen ถูกมองเป็นเรื่องของอนาคต แต่ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง เช่น สเปน ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของยุโรป มีความเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลม เพื่อสร้าง Green Hydrogen
ย้อนกลับไปในปี 2020 รัฐบาลสเปนตั้งเป้าหมายผลิตพลังงาน Green Hydrogen 4 กิกะวัตต์ภายในปี 2030 ในขณะที่ปัจจุบัน พบว่า สเปนสามารถผลิต Green Hydrogen ได้สูงถึง 15.5 กิกะวัตต์ มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 4 เท่า จากการที่สเปนทุ่มงบประมาณถึง 1.8 หมื่นล้านยูโร (7 แสนล้านบาท)
โดยปัจจุบัน สเปนเป็นเจ้าของโรงงานผลิต Green Hydrogen ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และคาดว่าสเปนจะกลายเป็นผู้ผลิต Green Hydrogen ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี 2030
เพราะฉะนั้น การลงทุนในเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ Green Hydrogen จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่น่าจับตามองในอนาคต
เช่นเดียวกับประเทศอื่นในเวทีโลก ประเทศไทยเองก็มีการตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทาง คาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050 และ 2065 ตามลำดับ เพื่อการบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศนั้น Green Hydrogen ถือเป็นวาระหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจ โดยภาครัฐได้จัดทำแผนกลยุทธ์การนำไฮโดรเจนไปใช้ในภาคพลังงาน 4 ระยะ คือ
ปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มใช้ Grey Hydrogen เป็นเชื้อเพลิงให้กับกังหันก๊าซที่โรงไฟฟ้าบางปะกงและลำตะคอง โดยผสมกับก๊าซธรรมชาติในอัตราส่วน 50% โดยโครงการนี้เป็นการวิจัยของ กฟผ. เพื่อศึกษาข้อดี ข้อเสีย และประสิทธิภาพของการทำงานของระบบกักเก็บพลังงาน
สุดท้ายแล้ว Green Hydrogen จะเป็นพลังงานสะอาดอีกหนึ่งแหล่งที่จะมีส่วนสำคัญในการทำให้โลกสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ ทว่าการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต Green Hydrogen ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐและการลงทุนจากภาคเอกชน เพื่อให้ราคาของพลังงานชนิดนี้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้เช่นเดียวกับพลังงานสะอาดชนิดอื่น ๆ
ที่มา