SHORT CUT
เคาะแล้ว! กกพ. เคาะ "ค่าไฟ" งวดใหม่ 4.18 บาท หลังมีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ระบุเท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน พร้อมพามาส่องโครงสร้างค่าไฟไทย ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร?
หน้าร้อนย่างกรายเข้ามา หลายบ้านคงเปิดแอร์ หรือใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ากันฉ่ำๆ และก็มีความกังวลว่าค่าไฟหน้าร้อนนี้จะพุ่งเหมือนทุกๆปีที่ผ่านมา หลายบ้านมีดราม่าเรื่องค่าไฟแพง และหลายคนภาวนาว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำเหมือนปีก่อนๆหน้านี้อีก เพราะลำพังแค่เศรษฐกิจไม่ดีก็ซ้ำเติมชีวิตอยู่ไม่น้อยแล้ว
หากมองไปตอนนี้ คือช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 ย่างเข้าเดือนเมษยายน 2567 พามาดูว่าค่าเอฟที ไฟฟ้าไทย อยู่ที่เท่าไหร่ โดย สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีการประกาศค่าเอฟที 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย มีผลงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 โดยอัตราดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2567 นี้
แต่…ประเด็นที่คนไทยอยากรู้คือ แล้วพอหลังเมษายน 2567 ซึ่งก็ยังเป็นฤดูร้อนอยู่ ค่าไฟจะแพงขึ้นหรือไม่ ความคืบหน้าล่าสุด กกพ. ได้เคาะ "ค่าไฟ" งวดใหม่ 4.18 บาท หลังมีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ระบุเท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน
เรื่องราวข่าวดีนี้ ถูกเปิดเผยจาก นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน
นายคมกฤช กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง สำนักงาน กกพ. จึงขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดี เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อน
“เราอยากให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่ายๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดการนำเข้า LNG ลดการเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบใหม่ (New Peak Demand) ในระบบไฟฟ้าและยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า” นายคมกฤช กล่าว
จากนี้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2567 คนไทยก็จะได้ใช้ไฟในราคาที่ไม่แพงมาก แต่…หลายคนกังวลเรื่องอนาคตในระยะยาวว่า ค่าไฟ จะกลับมาสูงขึ้นอีก วันนี้ #สปริงนิงส์ จะพาไปส่องดูนโยบายโครงสร้างค่าไฟ หรือ ค่าเอฟที ในระยะยาว โดยล่าสุด งานเปิดตัวผู้ว่ากฟผ. คนที่16 นาย "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" ได้ชูวิสัยทัศน์ด้านพลังงาน พร้อมเดินหน้า 5 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ 1. รักษาความมั่นคงทางด้านไฟฟ้า 2. เพิ่มความสามารถแข่งขันทางด้านราคา 3. รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม 4. ตอบสนองความต้องการของรัฐ 5. นำส่งรายได้ให้กับรัฐ
ส่วนเรื่องแก้ค่าไฟแพง จะนำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เช่น ก๊าซ ลิกไนท์ ถ่านหิน มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก้ปัญหาราคาพลังงานแพง พร้อมสนับสนุนการรื้อโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า ตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งจะสนับสนุนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ยังพร้อมสนับสนุนการรื้อโครงสร้างราคาค่าไฟ ตามนโยบายรัฐบาล นอกจากมองว่า น่าจะมีการปรับค่าเอฟที 1 ครั้งต่อปี จากเดิม 3 ครั้งต่อปี จะส่งผลดีต่อภาคอุตสหากรรมในการคำนวณต้นทุนภาคการผลิต รวมมั้งมีผลต่อกับความเชื่อมั่นลงทุนภาคเอกชน
“กฟผ. จึงอยากให้ค่าไฟนิ่ง ต่ำ นาน ส่งผลดีต่อทุกฝ่าย หรือเปลี่ยนแปลงไม่เกินปีละ 1 ครั้งก็ถือว่าเหมาะสม ไม่ใช่ต้องมาลุ้นกันทุกงวด แต่สุดท้ายคนที่ต้องนำไปพิจารณา คือ กกพ. เพื่อประกาศให้ฝ่ายปฏิบัติดำเนินการ เพราะค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนของทุกอุตสาหกรรม ไม่ควรปรับไปปรับมาบ่อยๆ เพื่อให้การคิดต้นทุนสินค้าของธุรกิจมีความแน่นอน เพราะถ้าค่าไฟแพงบ้างถูกบ้างจะคำนวณยาก ธุรกิจก็ต้องคิดค่าไฟแพงเป็นต้นทุนไว้ก่อน สุดท้ายต้นทุนนี้ก็จะถูกบวกอยู่ในราคาสินค้าส่งต่อมายังผู้บริโภค” นายเทพรัตน์ กล่าว
มาดูทางฟากของก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่มีผลอย่างมากว่าค่าไฟจะขึ้นจะลง เดิมไทยมีการ LNG บางส่วน และบางส่วนต้องอาศัยนำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับการผลิตในประเทศล่าสุดมีข่าวดี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. รายงานว่า ปตท.สผ. ผลิตก๊าซธรรมชาติโครงการ G1/61 ได้เพิ่มขึ้นเป็นอัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแล้วในวันนี้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานให้กับประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
สำหรับแผนงานต่อไป ปตท.สผ. มีแผนที่จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติมอีกปีละประมาณ 8 แท่นและเจาะหลุมผลิตเพิ่มอีกประมาณ 300 หลุมต่อปี โดยในปี 2567 บริษัทจะใช้เงินลงทุนในโครงการ G1/61 เป็นจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้โครงการ G1/61 เป็นหนึ่งในโครงการของ ปตท.สผ. ที่เป็นหลักในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวต่อไป
สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศ คือ ปริมาณผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งยาดานา เมียนมา ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในเรื่องค่าไฟไทย และความต้องการใช้ไฟ เพราะไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งนี้มาผลิตกระแสไฟฟ้า โดยที่ผ่านมาจะมีช่วงเมษายน จะมีการปิดปรับปรุงและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ประจำปีงผลให้ความสามารถจ่ายก๊าซฯ รวมฝั่งตะวันตกลดลง
นอกจากนี้ยังแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ-เอ18) ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติของไทย ซึ่งในอนาคตหากมีแผนปิดซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ก็จะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากผลิตไฟฟ้าในไทยด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดใจครั้งแรก "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" ผู้ว่ากฟผ. คนที่16 ลุยปรับค่าไฟให้ต่ำ
“โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ความหวัง...ช่วยลดต้นทุนค่าไฟให้ถูกลง
พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา กุญแจสำคัญ “ลดค่าไฟ” ในอนาคต