พาเปิดกุญแจสำคัญที่จะช่วย“ลดค่าไฟ” ได้ในอนาคต กับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา ขุมทรัพย์พลังงานมหาศาล จะจบดีลกันปีไหน?
ราคาพลังงานเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนอยากให้ราคาต่ำกว่านี้ แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะเรื่องค่าไฟ ที่จะต้องไปแก้ไขที่ต้นทุนการผลิต คือ ก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นจึงมีความพยายามของรัฐบาลที่จะเข้าไปเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เพื่อจะสรรหาก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น ซึ่งหากทำได้ก็มีโอกาสที่จะทำให้ค่าไฟลดลงได้
โดย “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas : OCA) ซึ่งถือเป็นความหวังในการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ซึ่งหากเจรจาสำเร็จก็จะช่วยให้ค่าไฟถูกลงได้ โดยการจะมุ่งไปที่พลังงานสะอาดหากจะให้มั่นคงจะต้องดูว่าอะไรที่พอทำได้ ซึ่งประเด็นเรื่องราคาก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อราคาลงมาจึงนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนให้การใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งแสงแดดและลมมีความมั่นคงเพิ่มขึ้นด้วย
ด้าน “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า กรณีข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ในมุมของปตท. อาจจะมีโมเดลที่ให้ศึกษาเป็นตัวอย่างได้ เช่นพื้นที่ไทย-มาเลเซีย ซึ่งเรื่องการแบ่งดินแดนนั้นไม่น่าจะสรุปได้ เพราะเข้าใจเลยว่าการแบ่งพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียวก็ต้องมีปัญหา
ทั้งนี้หากมาหารือกันเรื่องของวัตถุดิบที่อยู่ใต้ดิน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่หารือกันได้ไม่ยาก ว่าจะมาแบ่งกันอย่างไร เพราะประเทศไทยมีท่อก๊าซและโครงสร้างพื้นฐานใกล้ ๆ พื้นที่ทับซ้อนอยู่แล้ว การที่จะขุดเจาะและนำขึ้นมาใช้ก็ง่าย และหากจะมีการส่งไปยังกัมพูชาก็สะดวก
"ผมคิดว่าโมเดลที่จะนำวัตถุดิบขึ้นมาใช้ รวมถึงพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และให้กัมพูชามาลงทุนกับไทยได้ เพื่อแบ่งส่วนแบ่ง 50% ที่จะเป็นของกัมพูชาไปก็ได้ โดยต้องยอมรับว่าโมเดลทางด้านธุรกิจนั้นไม่ยากเลย แต่ทางด้านการเมืองก็ยังน่าเห็นใจ พูดตรง ๆ เลยว่าที่มีปัญหากัมพูชาไม่น่าจะมี มีแต่ในประเทศไทยนี่แหละ ที่มีการพูดเรื่องนี้ตลอด เดี๋ยวก็หาว่าขายชาติบ้าง ซึ่งน่าจะต้องลดในส่วนดังกล่าวงนี้เพื่อให้เกิดข้อสรุป และจะได้ไม่เกิดปัญหา"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง