ค่าไฟแพง คือปัญหาที่ประชาชนอยากให้แก้ไขเร่งด่วน ล่าสุดกระพลังงาน จ่อชงรัฐบาลใหม่ ให้เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อน “ไทย-กัมพูชา” หวังเป็นแหล่งพลังงานในอนาคต เพื่อสำรองแหล่งก๊าซที่มีราคาถูก แก้ค่าไฟแพง
อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนหากรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ นั่นก็คือ ปัญหาค่าไฟแพง และการสรรหาก๊าซธรรมชาติที่จะมาผลิตไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงกว่านี้ ล่าสุดนายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การเจรจากับกัมพูชาเพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา คงต้องรอรัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณาเพราะเป็นเรื่องระดับนโยบาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ติดโซลาร์เซลล์” หนีค่าไฟแพง ! ต้องรู้ 4 เรื่องยอดฮิต ที่ทำให้คนมักเข้าใจผิด
สรุปให้! การสำรองไฟฟ้า และเปิดประมูลพลังงานหมุนเวียน ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น?
ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน รายงานว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ต่อ ครม.หลังจากเดือน ธ.ค.2565 ฝ่ายไทยได้หารือกับนายซุย แซม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา เพื่อพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) พื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร โดยใช้โครงสร้างคณะกรรมการร่วม (Joint Committee : JC) ระหว่างไทย-กัมพูชา
พร้อมกันนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนทางการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยไทยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก โดยประชุมร่วมกับกัมพูชาแล้ว 1 ครั้ง และจากนี้ต้องดูรายละเอียดแนวเขตที่กระทรวงการต่างประเทศยังกังวลและต้องหาทางออก ส่วนกระทรวงพลังงานทำงานร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เพื่อเดินหน้าการเจรจา
ทั้งนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะสรุปร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อยุติก่อนการพัฒนาร่วม โดยดำเนินการเจรจาควบคู่กับการเจรจาเพื่อแบ่งเขตในพื้นที่ตอนบน (เหนือละติจูดที่ 11 องศาเหนือ) โดยไม่อาจแบ่งแยกได้ รวมทั้งสรุปข้อมูลใน 6 ประเด็น ดังนี้
1.สัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลทั้งสอง
2.ระบบจัดเก็บรายได้ที่จะนำมาใช้ในพื้นที่พัฒนาร่วม
3.การจัดสรรสิทธิของผู้ได้รับสัญญาหรือผู้รับสัมปทานเดิมของแต่ละประเทศ รวมถึงการกำหนดผู้ดำเนินงาน
4. ระบบกรือโครงสร้างการบริหารจัดการในพื้นที่ประเด็นสำคัญ ได้แก่องค์กรก้ากับดูแลการจัดสรรงบประมาณออกกฎหมายภายในต่างๆ เพื่อรองรับการด้าเนินงานขององค์กรกำกับดูแล
5.ประเด็นด้านศุลกากร ภาษีอากรและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
6.ประเด็นอื่นๆ เช่น การประมง การวางท่อ อุทกศาสตร์ และสมุทรศาสตร์
พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชามีศักยภาพปิโตรเลียม โดยพื้นที่ฝั่งไทยที่ติดกับพื้นที่ทับซ้อนมีการพบปิโตรเลียมแล้ว เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งอาทิตย์ จึงมีแนวโน้มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งรัฐบาลไทยให้สัมปทานไปเมื่อปี 2511 และให้หยุดสำรวจตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.ปี 2518 ที่ให้ยุติสำรวจในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ทำให้การให้สิทธิสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาหยุดลง
สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมี 26,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งการเจรจาเป็น 2 ส่วน คือ
1. พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ
2. พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA) ในลักษณะที่คล้ายกับที่ไทยทำ JDA ร่วมกับมาเลเซีย