"พลังงาน" ย้ำชัด เดินหน้าลดโลกร้อนสู่เป้า Net Zero เร่งลดสัดส่วนฟอสซิล เพิ่มพลังงานสะอาด ลุยนโยบายสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ภายใต้ราคาที่เป็นธรรม ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกีดกันทางการค้า สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน รักษาระดับราคา และดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ทั้งหมด คือพันธกิจเร่งด่วนที่กระทรวงพลังงานต้องเร่งทำ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ “นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวบนเวทีผู้นำ “Climate Action Leaders Forum รุ่น 3” หรือ CAL Forum #3 ครั้งที่ 1 ว่า ทิศทางและนโยบายพลังงาน ภาคพลังงานถือเป็นตัวใหญ่ที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนโดยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะด้านไฟฟ้า
โดยสถิติการใช้ไฟปี 2566 สูงมากกว่า 2 แสนเมกะวัตต์ อาจจะเพราะอากาศร้อนโดยเฉพาะช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. มียอดใช้ไฟฟ้าพีคที่ 34,827 เมกะวัตต์ สูงที่สุดในช่วงเวลากลางคืน จากปกติที่พีคอยู่ระดับ 3.3. หมื่นเมกะวัตต์ มากกว่าปี 2565 ถึง 5% ที่ผ่านมาสูงแค่ 2% อาจเพราะมีการขยายเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมได้มีการผลิตเริ่มกระบวนการผลิตต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ผนวกกับการใช้ไฟภาคประชาชนที่อยู่อาศัยมีจำนวนมากขึ้น จากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งชาร์จไฟในเวลากลางคืนส่งผลให้ประชาชนทั่วไปใช้ไฟเพิ่มขึ้น 7% ส่วนภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 8% ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจโรงแรม ที่ภาคท่องเที่ยวมีการเติบโต
ทั้งนี้จากปัญหาโควิด และโลกร้อน ทำให้เกิดเหตุการต่างๆ มากมาย กระทรวงพลังงานเห็นว่าโลกมีการตื่นตัว โดยพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่จะช่วยได้เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นต้นเหตุของโลกร้อน เช่น การใช้พลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ ที่ค่าใช้จ่ายและเทคโนโลยีเริ่มถูกลง ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น ที่ช่วงแรกไม่มีใครกล้าลงทุน เช่น การทำโซลาร์ฟาร์ม 1 แห่ง ต้องใช้เงินลงทุนถึง 130 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้อยู่ระดับ 15-20 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่ถือเป็นเทรนด์อนาคต คือ พลังงานไฮโดรเจน และเทคโนโลยี CCS ที่จะเข้ามาทดแทน ซึ่งปัจจุบันยังแพงโดยแผนพลังงานชาติ ฉบับใหม่จะผสมผสานนำเอาไฮโดรเจนเข้าลงท่อก๊าซในโครงการนำร่องพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในขณะที่เทคโนโลยี CCS ได้สำรวจแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่แหล่งอาทิตย์ และแม่เมาะ ราว 40 ล้านตัน แม้ปัจจุบันจะพยายามลดสัดส่วนฟอสซิลในน้ำมัน โดยผสมเอทานอล หรือไบโอดีเซลระดับ 7-10% ซึ่งยังถือว่าน้อยมาก
สำหรับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยปีละประมาณ 370 ล้านตัน โดย 70% มาจากภาคพลังงาน การจะถึงเป้าหมายปี 2550 จะต้องเหลือ 95 ล้านตัน จาก 260 ล้านตัน ถือว่ายังทำได้ยาก จึงต้องใช้วิธีปลูกป่า ใช้วิธีกักเก็บคาร์บอนผ่านเทคโนโลยี CCS มาช่วยลด จึงเป็นโจทย์ที่กระทรวงพลังงานจะต้องทำ
"ปัจจุบันการค้าการลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าไฟฟ้าไม่สีเขียว ไม่เป็นพลังงานสะอาดก็จะไม่มา จะต้องกำหนดชัดเจนถึงพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนในการผลิตสินค้า ถือเป็นความสำคัญของประเทศ"
อย่างไรก็ตามสำหรับนโยบายพลังงานที่สำคัญโดยรวมมี 3 เรื่อง คือ 1. ความมั่นคง 2. ราคา และ 3 สิ่งแวดล้อม โดยสิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นปีนี้คือ การเพิ่มก๊าซในอ่าวไทย เนื่องจากปีที่ผ่านมาปริมาณนำเข้าถึง 90 ลำ จากก่อนโควิดช่วง 8-10 ปี นำเข้า 5 ลำ แต่ขณะนี้มีการใช้ไฟมากขึ้น หากก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น บวกกับพลังงานทดแทนที่เปิดรับซื้อช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา จะมาช่วยลดการนำเข้าเหลือ 60 ลำ
"กระทรวงพลังงานจะเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมพลังงานหลีกเลี้ยงไม่ได้ในเรื่องของความมั่นคง ถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงเรื่องของราคาด้วย ซึ่งจะต้องควบคุมและบริหารจัดการให้สมดุลใน 3 เรื่อง" นายประเสริฐ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โอกาสทอง! นักลงทุนไทย ลุย “พลังงานสะอาด” ศรีลังกา รับเทรนด์โลก
โอกาสทอง! พลังงานสะอาด -โครงสร้างพื้นฐาน ไทยพร้อม หนุนลงทุน จ้างงาน เพิ่ม
ทิเบตมีกำลังผลิตติดตั้งพลังงานสะอาดกว่า 90% ลดปล่อยคาร์บอนถึง 2.52 ล้านตัน