นักวิชาการพลังงานชี้ แม้พลังงานนิวเคลียร์โดยเทคนิคแล้วเป็นพลังงานสะอาด ไม่ปลอดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ด้วยปัจจัยราคาที่แพง และอันตรายจากสารกัมมันตรังสี ทำให้พลังงานชนิดนี้กำลังอยู่ในขาลง
ในขณะที่โลกกำลังเฝ้ามองอย่างหวาดระแวง เมื่อญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา พลังงานนิวเคลียร์จึงกลายเป็นจุดสนใจของสังคมอีกครั้ง ว่าตกลงแล้วพลังงานชนิดนี้จะมีอนาคตอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะในยุคโลกรวนที่มนุษยชาติต้องเร่งผลักดันพลังงานสะอาด ทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อกู้ไม่ให้โลกร้อนขึ้น
ประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า อนาคตของพลังงานนิวเคลียร์อาจไม่สดใสนัก แม้ว่าพลังงานนิวเคลียร์จะถือว่าเป็นพลังงานสะอาด ที่ไม่ปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น จากการผลิตกระแสไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ประสาท ชี้ว่า พลังงานนิวเคลียร์มีข้อจำกัดใหญ่ๆ ที่ทำให้พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่พลังงานที่น่าจับตามองในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นก็คืออันตรายจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ดังที่เกิดเหตุการหลอมละลายนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล ประเทศยูเครน และที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น และอันตรายจากกากกัมมันตภาพรังสีที่เหลือจากการดำเนินการโรงไฟฟ้า
“พลังงานนิวเคลียร์มีความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพราะในขณะนี้เรายังไม่มีเทคโนโลยีที่จะจัดการกับกากนิวเคลียร์ได้ กากนิวเคลียร์เหล่านี้จำเป็นที่ต้องจัดเก็บไว้อย่างดีที่สุด เพราะถ้าหากหลุดรอดออกมาจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม” ประสาท กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มแล้ว ! ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียที่บำบัด ชุดแรกสู่มหาสมุทรมากกว่าล้านตัน
'นิวเคลียร์ฟิวชัน' พลังงานแบบใหม่ ปล่อยพลังงานมหาศาล ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
“ยิ่งไปกว่านั้น หากกากนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้าตกไปอยู่ในมือของผู้ที่ไม่ประสงค์ดี กากนิวเคลียร์เหล่านี้เป็นวัตถุดิบสามารถนำมาดัดแปลงให้กลายเป็นอาวุธนิวเคลียร์ สามารถนำมาใช้เพื่อการทำลายล้างได้ เพราะสมัยนี้เราสามารถหาวิธีทำระเบิดนิวเคลียร์ในอินเตอร์เน็ตได้ไม่ยาก ขอเพียงแค่มีวัตถุดิบเท่านั้น”
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังกล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนการพลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ยังแพงขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับพลังงานหมุนเวียนสะอาดอื่นๆ เช่น พลังงานจากแสงแดด พลังงานลม และแบตเตอรี ซึ่งกำลังมีราคาถูกลงเรื่อยๆ
“เมืองนอกเขาหันมาทางนี้ (พลังงานสะอาด) หมดแล้ว ดังจะเห็นได้จากการลงทุนในพลังงานแสงแดด พลังงานลม และแบตเตอรี มากขึ้น ประเทศญี่ปุ่นในตอนนี้ที่เคยลงทุนมากในพลังงานนิวเคลียร์ก็หันมาลงทุนในพลังงานแสงแดดมากขึ้น จนตอนนี้ญี่ปุ่นสามารถผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้เกือบครึ่งหนึ่งของความต้องการพลังงานประเทศไทยตลอดทั้งปี” ประสาท กล่าว
นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอบคอบอย่างมาก เพราะหากมีข้อผิดพลาดแม้แต่น้อยก็อาจเกิดเหตุวิบัติครั้งใหญ่แบบ การรั่วไหลสารกัมมันตภาพรังสีที่เชอร์โนบิลได้ ซึ่งแม้ในขณะนี้ ผ่านมาแล้วสามสิบกว่าปี แต่อาหารและผลิตผลการเกษตรจากบริเวณนั้นยังไม่สามารถขายหรือนำมาบริโภคได้
“พลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นพลังงานที่เราไม่ควรไปยุ่งเป็นดีที่สุด” ประสาท กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลล่าสุด ประเทศไทยยังไม่มีแผนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ถูกบรรจุในแผนการพัฒนาพลังงานของประเทศ (PDP)
อนึ่ง พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่ได้จากการคายความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ เพื่อประโยชน์ในการสร้างความร้อนและผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีหลักการผลิตไฟฟ้าคล้ายกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั่วไป กล่าวคือ จะใช้พลังงานความร้อนไปผลิตไอน้ำ แล้วส่งไอน้ำไปหมุนกังหันไอน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าออกมา แต่มีข้อแตกต่างกันคือ ต้นกำเนิดพลังงานความร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เกิดจากปฏิกิริยาแตกตัวของยูเรเนียม-235 ในเชื้อเพลิงนิวเคลียร์
ข้อมูลจาก Our World in Data เผยว่า ทั่วทั้งโลกมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดราว 440 แห่ง และทั่วโลกสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ได้อยู่ที่ 2,610 TWh ในปี 2565