ดร.นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์กร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ซี้ พลังงานสะอาดต้องใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา จะเกิดประโยชน์สูงสุด กฟผ.ศึกษาทุกเทคโนโลยี หวังสร้างนวัตกรรมรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
ในงานสัมมนา New Energy แผนพลังงานชาติสู่ความยั่งยืน จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ ดร.นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์กร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวระหว่างเสวนา “การขับเคลื่อนพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรม” ว่า กฟผ.เตรียมรับกระแสโลกใหม่ที่มุ่งสู่พลังงานสะอาดด้วยกลยุทธ์ Triple S ประกอบด้วย
1.Source Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านแหล่งที่มาพลังงาน ซึ่งแผนพลังงานใหม่กำหนดให้เพิ่มการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนเป็น 50 % ยกระดับระบบสายส่ง การมุ่งเทคโนโลยีใหม่
2. Sink Co-creation อาทิ การปลูกป่าเพิ่มออกซิเจน หรือพัฒนาเทคนิคกักเก็บคาร์บอน หรือนำไปใช้ประโยชน์รูปแบบอื่น
3.Supporting Measurement Machanism หรือกลไกสนับสนุนการลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
บทความที่น่าสนใจ
ปลัดกระทรวงพลังงาน ชี้วิกฤตพลังงานผันผวนหนัก เร่งแก้ปัญหาค่าไฟแพง
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เตรียมลงนามผลักดันตลาดคาร์บอนเครดิต
สภาอุตสาหกรรมฯ แนะ ต้องปรับแผน PDP ให้เท่าทันสถานการณ์ มีความยืดหยุ่น
ซึ่ง กฟผ.เร่งศึกษาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์แผนกลยุทธ์ 3 ด้านดังกล่าว อาทิ เทคโนโลยีกรีนไฮโดรเจนจากโรงไฟฟ้า เบื้องต้นตั้งเป้าหมายที่ปีละ 1 ล้านตัน แต่พบว่าจะได้ปริมาณขนาดนี้ต้องมาจากกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 30,000 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับกำลังผลิตไฟฟ้าอีก 1 เท่าตัว ซึ่งต้องปรับลดให้เหมาะสมต่อไป
เทคโนโลยีกักเก็บหรือใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (CCUS) กำลังศึกษาที่โรงไฟฟ้าน้ำพองที่มีแหล่งก๊าซอยู่ ว่าจะใช้หลุมก๊าซเป็นที่กักคาร์บอนได้หรือไม่ ส่วนระบบสำรองพลังงาน (Energy Storage System) หรือแบตเตอรี่ เราไม่ได้ดูแค่ตัวแบตเตอรี่ แต่ศึกษาไปถึงระบบประจุกลับ การชาร์จช้า-เร็ว การปั๊มน้ำในอ่างกลับเพื่อปล่อยลงมาปั่นในช่วงความต้องการใช้ไฟสูง
รวมถึงในช่วงปลาย ๆ แผนพลังงานใหม่ ต้องศึกษาเตรียมความพร้อมไว้เป็นทางเลือก คือ เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modullar Reactor) ซึ่งทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก แต่ก็ขึ้นกับความยอมรับของสังคมและความเหมาะสมกับสถานการณ์
ดร.นิทัศน์กล่าวอีกว่า ส่วนการพัฒนาระบบสายส่งให้ทันสมัย เนื่องจากเมื่อต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน แต่พลังงานทดแทนมีปัญหาความไม่เสถียรของการผลิตไฟฟ้า กระทบความมั่นคงการจัดหาพลังงาน ต้องพัฒนาระบบรองรับ อาทิ ระบบประมวลผลข้อมูลเพื่อการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานทดแทน ระบบตอบสนองฉับพลัน เมื่อแหล่งป้อนไฟฟ้าหนึ่งขาดต้องหาทดแทนได้ทันเวลา
ทั้งนี้ กฟผ.เองต้องเตรียมโรงไฟฟ้าพลังงานพื้นฐานไว้รองรับสถานการณ์ โดยต้องพัฒนาระบบให้สตาร์ท-สต็อป ไวขึ้นกว่าปัจจุบันควบคู่กับการโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่ง ให้สามารถรองรับโรงไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็กและกระจายเต็มพื้นที่ ให้เชื่อมโยงเข้าเป็นระบบและสามารถบริหารจัดการร่วมกันได้
ตลอดจนศึกษาถึงโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) หรือโรงไฟฟ้านอกระบบของเอกชนที่ปั่นไปเองใช้เอง ต้องมีฐานข้อมูลไว้และระบบเชื่อมโยง เพื่อสามารถดึงไฟฟ้าเข้าระบบหากจำเป็น หรือการชาร์จแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หากเกิดภาวะวิกฤตให้สามารถดึงไฟจากแบตเตอรีกลับเข้าป้อนระบบได้ เป็นต้น
“นอกจากนี้มีแผนศึกษาการระบบสายส่งไฟฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเชื่อมโยงกันในกลุ่มสมาชิกอาเซียน เพื่อลดความผันผวนระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานนี้ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงและชดเชยกันได้ เช่น พื้นที่หนึ่งฝนตกผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้ ก็ดึงจากพื้นที่ที่ฝนไม่ตกมาทดแทน และช่วยลดภาระการลงทุนลง”
นอกจากเทคโนโลยีแล้ว กฟผ.ยังพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาด โดยได้ผ่านการรับรองให้เป็นหน่วยตรวจรับรองการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด (Renewable Energy Certificate-REC) ได้แล้ว ซึ่งมีกระแสตอบรับอย่างดี มีธุรกิจหลายแห่งต้องการให้ไปตรวจรับรอง รวมถึงกลุ่ม RE-100 หรือธุรกิจที่ต้องการให้รับรองว่าใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดตลอดกระบวนการผลิต ในการทำการตลาดผลิตภัณฑ์ของตนเองในตลาดโลกต่อไป
เช่นเดียวกับบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์อีวี ซึ่งของกฟผ.พัฒนามาให้บริการในชื่อ Elexa ของ กฟภ.ชื่อ Volta ได้จับมือพัฒนาแอปฯร่วมเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้กว้างขวาง สะดวกสบายขึ้น ต่อไปอาจพัฒนาเป็นซูเปอร์แอพฯ สำหรับการให้บริการจุดอัดประจุอีวีทั้งหมด รวมถึงการพัฒนาแอพฯเพื่อการประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อีกด้วย
การพัฒนาแพลตฟอร์มสร้างอีโคซิสเต็มเพื่อมุ่งไฟฟ้าพลังงานสะอาดต่าง ๆ เหล่านี้ กฟผ.ดำเนินการเพื่อเป็นโครงการนำร่อง เพื่อให้เอกชนสามารถนำไปต่อยอดเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ได้อย่างกว้างขวางต่อไป
ดร.นิทัศน์กล่าวอีกว่า การปรับตัวรับพลังงานสะอาดที่เป็นกระแสโลก ต้องให้บรรลุความท้าทาย 3 ประการ คือ มีราคาหรือต้นทุนที่ประชาชนยอมรับได้ มีความมั่นคงของระบบพลังงาน และมีความยั่งยืน แต่การจะตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีไหน และในเวลาได้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องเลือกให้ถูกจังหวะและเวลาที่เหมาะสม เพราะถ้าทำเร็วไปก็ไม่ดี อาจไม่สอดคล้องกับภาวะตลาด ช้าไปก็ไม่ทันโลกเนื่องจากต้องดูด้วยว่าคนของเราพร้อมแค่ไหนกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารผู้กำหนดนโยบาย ที่ต้องเลือกให้ถูกจังหวะและเวลา
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ