นักวิทย์อังกฤษได้รับไฟเขียวให้ทดลองการ “หรี่แสงดวงอาทิตย์” หวังช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน แม้นักวิจารณ์จะมองว่าเป็นแนวคิดที่หลุดโลกเกินไป
วิศวกรธรณีวิทยาจากหน่วยงานวิจัยและประดิษฐ์ขั้นสูง (Aria) ในสหราชอาณาจักร ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 66 ล้านดอลลาร์ เพื่อทดลองการ “หรี่แสงดวงอาทิตย์” โดยจะฉีดอนุภาคละอองในชั้นบรรยากาศเพื่อสะท้อนแสงของดวงอาทิตย์ออกจากโลก และคาดว่าจะช่วยป้องกันภาวะโลกร้อนได้
การทดลองนี้ จะใช้การส่งเครื่องบินที่บินสูงขึ้นไปปล่อยอนุภาคซัลเฟตเข้าไปในชั้นสตราโตสเฟียร์ ใกล้กับชั้นบรรยากาศที่ต่ำกว่า ซึ่งจะป้องกันไม่ให้แสงอาทิตย์บางส่วนส่องมาถึงพื้นดินและถูกสะท้อนออกไปในอวกาศแทน
แม้จะยังไม่สามารถยืนยันผลลัพท์ได้ แต่พวกเขามองว่านี่คือมาตรการที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากจุดเปลี่ยนของภาวะโลกร้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และคาดว่าจะเริ่มต้นการทดสอบโดยใช้แบบจำลองขนาดเล็กภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
นอกจากนี้ยังมีวิธีการทางธรณีวิศวกรรมอื่นๆ ที่จะนำมาพิจารณาภายใต้หัวข้อของโครงการดังกล่าว เช่น "การทำให้เมฆทะเลมีสีสว่างขึ้น" โดยจะพ่นเกลือทะเลเข้าไปในชั้นบรรยากาศเพื่อทำให้เมฆมีสีขาวขึ้นและสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิจารณ์หลายคนแสดงความกังวลว่า ความทะเยอทะยานของมนุษย์ที่อยากจะควบคุมสภาพอากาศ ด้วยการทำให้ดวงอาทิตย์หรี่ลง จะมีผลกระทบต่อรูปแบบสภาพอากาศและการผลิตอาหารโดยไม่คาดคิด เนื่องจากพืชผลในฟาร์มได้รับแสงแดดน้อยลง ทำให้เกิดความเครียดและอาจส่งผลให้มีผลผลิตลดลงตามไปด้วย
ด้านนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมก็ออกมาวิจารณ์แนวคิดนี้ว่าค่อนข้าง 'หลุดโลก' เหมือนพยายามรักษาโรคมะเร็งด้วยยาแอสไพริน
ขณะที่หน่วยงานวิจัยและประดิษฐ์ขั้นสูง (Aria) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่เทียบเท่ากับหน่วยงานโครงการวิจัยขั้นสูงด้านการป้องกันประเทศ (DARPA) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานลึกลับที่ให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัย รวมถึงโดรนติดอาวุธ รถยนต์ไร้คนขับ สารกำจัดวัชพืช และอินเทอร์เน็ต