SHORT CUT
“ศ.ดร.เป็นหนึ่ง” ชี้ งบประมาณรับมือ “แผ่นดินไหว” ไทยยังน้อย แถมยังถูกตัด ทำให้ไม่มีความรู้ใหม่เพิ่ม แนะนักธรณีเร่งสำรวจรอยเลื่อนเพิ่ม 10 ปี ความรู้ใหม่เพียบ
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่เคยเกิดเหตุในลักษณะนี้บ่อยมากนัก จึงทำให้มีความรู้ในการรับมือแผ่นดินไหวไม่มากเหมือนญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง จึงทำให้บทเรียนจากแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด จะเป็นบทเรียนที่หลายฝ่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาลต้องเร่งหาทางล้อมคอกเพื่อรองรับเหตุแผ่นดินไหวในอนาคต ให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด
#SPRiNG มีโอกาสสัมภาษณ์ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในงาน เสวนาวิชาการ “โลกเดือด แผ่นดินขยับ: อยู่กับความเสี่ยงอย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดย กรมทรัพยากรธรณี ที่จัดไปเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่ง ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า บทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ทำให้ไทยต้องเร่งนำข้อมูลที่ได้มาทำการบ้านรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต ให้รอบคอบมากขึ้น
ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึง คือ เรื่องรอยเลื่อนในประเทศไทยที่มีอยู่ 16 รอยเลื่อน โดยมองว่าที่ผ่านมาไทยยังมีความรู้เกี่ยวกับรอยเลื่อนเหล่านี้น้อยมาก จากนี้ไปจำเป็นต้องส่งนักธรณีวิทยาที่มีความรู้ความสามารถเข้าไปไปศึกษารอยเลื่อนต่างๆให้มากกว่านี้ หาประวัติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต การศึกษาจะทำให้เข้าใจประวัติรอยเลื่อนดีขึ้น ทำให้รู้ว่าเกิดแผ่นดินไหวใหญ่มากี่ครั้ง ตำแหน่งไหนบ้าง และนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำการปรับปรุงประเมินความเสี่ยงแผ่นดินไหวได้ชัดเจนมากขึ้น
หากทำเช่นนั้นได้จะเป็นการเตรียมความพร้อมได้ดีมากขึ้น ซึ่งแผนงานทั้งหมดจะต้องมีการทุ่มงบประมาณเพิ่มในการสำรวจรอยเลื่อนต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมางบประมาณในด้านนี้ถูกตัดมาโดยตลอด ทำให้ไทยไม่ได้มีความรู้ใหม่เกี่ยวกับแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นเท่าไหร่
“ส่วนตัวมองว่า งบการศึกษารอยเลื่อนไม่ใช่งบประมาณที่มากมายอะไร ระดับต่ำก็ไม่กี่ล้านบาทต่อปี และไม่ควรทำแบบทีเดียว จะต้องเป็นการศึกษาไปเรื่อย ๆอย่างต่อเนื่อง หากไทยทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆภายใน 10 ปี จากนี้ไปความารู้ใหม่จะมีมากขึ้นแน่นอน จะสามารถเตรียมรับมือเหตุแผ่นดินไหวได้ในอนาคต”
อย่างไรก็ตามยังมองอีกว่า ปัญหาครั้งนี้เกิดขึ้นที่กทม. แต่ยังมีหลายๆเมืองที่ยังมีความเสี่ยงเรื่องแผ่นดินไหว เช่น จังหวัดในภาคเหนือ จังหวัดในภาคตะวันตก หลายเมืองอยู่ไม่ไกลจากรอยเลื่อน และไทยยังมีรายเลื่อนอีกบางส่วนที่เป็นรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ชั้นดิน ทำให้มองไม่เห็น ยกตัวอย่างที่เชียงใหม่ รอยเลื่อนที่มองเห็นมีรอยหนึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 30 กิโลเมตร แต่ข้อมูลการตรวจวัดแผ่นดินไหวกับพบแผ่นดินไหวเล็กเรียงตัวอยู่ใกล้กว่านั้น อยู่ห่างตัวเมืองเชียงใหม่แค่ 10 กิโลเมตร จึงทำให้คิดว่าน่าจะมีรอยเลื่อนซ่อนตัวอยู่ตรงนั้น จุดเหล่านี้จะมีผลต่อการประเมินความเสี่ยงทั้งนั้น
“เรื่องเหล่านี้ไทยสามารถทำได้ ถ้าใส่ใจเพียงพอ ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่แผ่นดินไหวจะมาถึง มีเพียงบางประเทศบนโลกใบนี้ที่ทำได้ ถ้าไทยจะทำแบบนั้นก็สามารถทำได้เช่นกันกรณีกรุงเทพ เพราะแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างออกไป เนื่องจากคลื่นแผ่นดินไหวต้องใช้เวลาในการวิ่งมากว่าจะถึง กทม. ต้องใช้เวลาพอสมควร วิ่ง 3-7 กิโลเมตรต่อวินาที”
ทั้งนี้หากมีการออกแบบระบบที่ดี นำอุปกรณ์ไปวางตามชายแดน หรือ แหล่งกำเนิด เช่น ที่รอยเลื่อนสะกาย เมียนมา หรือ อาระกัน หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นไทยจะสามารถรู้ได้ก่อน หรือหากเกิดแผ่นดินไหวเซ็นเซอร์เหล่านั้นจะวัดได้ทันที ดังนั้นไทยจำเป็นต้องมีระบบประเมินผลแบบรวดเร็ว โดยกระบวนการทั้งหมดอาจเตือนล่วงหน้าได้สั้นๆ 10-15 วินาทีเท่านั้น
นอกจากระบบเตือนภัยที่ดีแล้ว การเตรียมอาคารบ้านเรือนให้พร้อม ให้อยู่ในมาตรฐานการออกแบบอาคารสูง ทำตามมาตรฐาน ทำให้ถูกต้องตามกระบวนการเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นกระบวนการตรวจสอบก็ต้องทำให้ดีด้วย การก่อสร้างก็ต้องทำให้ดีด้วยเช่นกัน จึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อก็จะไม่ได้เป็นห่วง
“มาตรฐานกฎหมายในการควบคุมอาคาร การออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง ของไทยต้องกลับไปทบทวน ว่าตรงไหนหลวมไป เช่น อาคารราชการอาจมีกระบวนการตรวจสอบที่น้อยเกินไป อาคารเอกชนดีพอแล้วหรือยัง หรือกระบวนการออกแบบที่ให้ผู้ออกแบบเจ้าเดียว และหน่วยงานรัฐไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียด อาจต้องไปทบทวนใหม่ว่าควรทำไง จะได้มีการตรวจสอบกันในระบบให้ดีขึ้น จากนี้ไปต้องมีการทบทวนเรื่องนี้ให้ดีขึ้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แผ่นดินไหวกระบี่ ขนาด 3.5 ลึก 2 กม. รับรู้แรงสั่นไหวหลายพื้นที่
จับตา! รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน-เมย คืนชีพ หลัง “แผ่นดินไหวเมียนมา”
รัฐทุ่ม 370 ล้าน รับมือ “ภัยพิบัติ” ดินสไลด์-น้ำท่วม-แผ่นดินไหว