เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่รอบล่าสุด สื่อไทยรายงาน 'ข่าวภัยพิบัติ' ได้ดีแค่ไหน ทั้งการให้ข้อมูลที่ประชาชนควรรู้อย่างทันท่วงที ไปจนถึงการสืบหาสาเหตุ และวิธีการป้องกัน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ประเทศไทยเผชิญแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่หลายคนกลับไม่ได้รับข้อความเตือนภัยจากภาครัฐ, สัญญาณโทรศัพท์ล่ม, เกิดความสับสนอลหม่านไปทั่ว
ท่ามกลางวิกฤต ‘สำนักข่าว’ กลายเป็นหนึ่งในจุดศูนย์กลางที่ประชาชนเลือกพึ่งพิงเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร
หลักฐานหนึ่งที่สะท้อนความสำคัญข้อนี้คือ ยอดผู้เข้าชมรายงานข่าวแผ่นดินไหวจากสำนักข่าวต่าง ๆ ในวันเกิดเหตุที่พุ่งสูงกว่าช่วงเวลาปกติอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ
“สังคมคาดหวังข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และพึ่งพาได้จากสื่อมวลชน” ระวี ตะวันธรงค์ อดีตผู้บริหารสำนักข่าวหลายสำนัก เช่น SpringNews, Thairath Online และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวถึงหน้าที่ของสื่อในช่วงเวลาภัยพิบัติ
ในช่วงเวลาที่ไม่มีความแน่นอน ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง-แม่นยำ-น่าเชื่อถือ ช่วยปลอบประโลมสังคม และช่วยลับการตัดสินใจของผู้ทำหน้าที่เป็นผู้นำให้เฉียบคมขึ้นในขณะเดียวกัน เช่น จะมี aftershock ตามมาไหม, จะให้นักเรียนกลับขึ้นห้องเรียนต่อหรือเปล่า, บุคลากรสาธารณสุขจะรอคอยหรือตัดสินใจผ่าตัดคนไข้เร่งด่วนตรงนั้นเลย ฯลฯ
ช่วงเวลาเช่นนั้น สื่อควรทำหน้าที่ที่ตัวเองถนัดที่สุด
มอบข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และพึ่งพาได้
ถูกต้อง น่าเชื่อถือ พึ่งพาได้ แต่รวดเร็วแค่ไหน? สื่อในภัยพิบัติ
“เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ สื่อไทยทำงานได้ดีขึ้น ดีกว่าหลายกรณี เช่น เหตุการณ์กราดยิง” ระวีกล่าวถึงการทำงานของสื่อไทยในภาพรวม
ระวียังชวนคุยต่อถึงเรื่อง ‘ความเร็ว’ ในการรายงานข่าวโดยเฉพาะในช่วงภัยพิบัติว่า โลกยุคปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่าสื่อไม่มีทางที่จะรวดเร็วได้เท่ากับผู้คนในโซเชียลมีเดีย ดังนั้น ความ ‘ถูกต้อง’ จึงเป็นสิ่งที่ประชาชน ‘คาดหวัง’ ต่อสื่อมวลชนมากกว่าช่วงเวลาไหน ๆ
เขามองว่า สื่อสามารถรายงานข่าวให้ช้าหน่อย 5 - 10 นาที แต่ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง มีแหล่งอ้างอิง ดีกว่ารายงานข่าวอย่างรวดเร็วแต่ข้อมูลตื้นเขินและผิดพลาด เหมือนกรณีการอพยพจากอาคารของหน่วยงานราชการหลายแห่ง เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2568 สิ่งที่สื่อควรทำจึงเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้สังคม
“เมื่อไม่เร็วเท่าโลกโซเชียลมีเดีย คนเลยคาดหวังข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือจากสื่อ ดังนั้น ความเร็วอาจไม่สำคัญเท่าข้อมูลที่ถูกต้อง” ระวีกล่าว
การกลั่นกรองข้อมูลและตรวจสอบเหตุการณ์ให้ ‘ถูกต้อง’ พร้อมรายงานอย่าง ‘รวดเร็ว’ เป็นสองสิ่งที่ สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา ผู้สื่อข่าวอิสระที่เคยทำงานให้กับสื่อหลายสำนัก เช่น PPTV, ThaiPBS, NationTV และศูนย์ข่าวแปซิฟิก ยอมรับว่าทำได้ยากในยุคที่ข้อมูลไหลเวียนรวดเร็วเช่นนี้
“ต้องยอมรับว่าทำได้ยาก และไม่ใช่ว่าคนที่รายงานข้อมูลผิดพลาดเป็นคนไม่ได้เรื่อง ยุคนี้มันพลาดกันได้ทั้งนั้นแหละ เพราะข้อมูลมาเร็วมากและบางทีมาจากไลน์กลุ่มที่น่าเชื่อถือ เช่น กลุ่มกู้ภัย ด้วยซ้ำ” สถาพรกล่าว
อย่างไรก็ดี สถาพรเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้จะพัฒนาขึ้นได้ เมื่อนักข่าวสั่งสมประสบการณ์และความชำนาญต่อประเด็นให้มากขึ้น
“ถ้าคุณคิดว่าแผ่นดินไหวเป็นเรื่องสำคัญ คุณต้องส่งนักข่าวไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญเรื่อย ๆ จนเก่ง อย่างน้อยต้องรายงานได้ถูกต้อง แผ่นดินไหวขนาดเท่าไร ใช้หน่วยอะไรวัดกันแน่ รอบนี้ผิดพลาดบ้างพอเข้าใจได้ เพราะเราไม่ค่อยได้รายงานข่าวแผ่นดินไหว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เช่น น้ำท่วม ควรจะทำได้” สถาพรกล่าว
เพราะวิกฤตเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผู้คนเปราะบาง จนเปิดช่องให้ข้อมูลที่ผิด (Misinformation) หรือข่าวลวง (Fake News) เข้ามาได้โดยไม่ต้องกลั่นกรอง ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนตัดสินใจผิดจนส่งผลต่อความปลอดภัยของชีวิต จึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่สำคัญที่จะตรวจสอบความถูกต้องเนื้อหาเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน
“ถ้าสื่อไหนที่ทำได้ดีในช่วงที่เวลาที่คนอยากได้ข้อมูล มันเป็นโอกาสปักธงเลยว่าต่อไปนี้ คนจะมาตามดูช่องคุณ นี่คือประโยชน์ที่องค์กรจะได้จากการลงทุนในข่าวพวกนี้” ผู้สื่อข่าวอิสระรายนี้ให้มุมมอง ในฐานะคนที่เคยไปทำข่าวภัยพิบัติทั้งในไทยและต่างประเทศ
“ในช่วงวิกฤตคนเลิกสนใจความบันเทิง ลำดับแรกเขาต้องการข้อมูลที่เชื่อถือได้ ข้อมูลที่ทำให้มั่นใจว่ารับฟังแล้วจะปลอดภัย วางแผนชีวิตได้ ฉะนั้น สิ่งที่สื่อควรเสิร์ฟให้ประชาชนก่อนคือ ข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่ไม่ใช่การคาดการณ์ การมีแหล่งที่มาที่ไปอย่างชัดเจน อธิบายได้ตามหลักวิชาการ” สถาพรสรุป
สั่งสมฝีมือ ไปให้ไกลกว่าแค่บอกเล่าข้อมูลทั่วไป
ต้องยอมรับว่าแผ่นดินไหวไม่ใช่ภัยพิบัติที่สังคมไทยคุ้นเคยนัก แต่เมื่อเผชิญแล้วก็ต้องเรียนรู้เพื่อรับมือในครั้งหน้าให้ดียิ่งขึ้น สื่อมวลชนเองก็เช่นเดียวกัน
สถาพรเชื่อว่า ยิ่งนักข่าวเชี่ยวชาญประเด็นใดประเด็นหนึ่งมากขึ้น ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมและองค์กรสื่อ
เขายกตัวอย่างสมัยที่เขาทำงานอยู่สำนักข่าว PPTV เขาฝึกให้คนในทีมทุกคนคุ้นเคยกับข้อมูลน้ำท่วมในระดับเชิงลึก ตั้งแต่
การทำงานจนเชี่ยวชาญทำให้นักข่าวยกระดับการรายงานข่าว จากเดิมที่แค่บอกเล่าข้อมูลทั่วไป สู่การวิเคราะห์ข้อมูลและรายงานข่าวเพื่อเตือนภัยให้ประชาชนรับทราบ
“ข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริง ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง ซึ่งนอกจากช่วยยกระดับการรายงานข่าวของเราแล้ว ยังทำให้ประชาชนเข้าใจเรื่องเหล่านี้ไปพร้อมกัน และจะทำให้ประเทศเรามีประชาชนรู้เท่าทันภัยพิบัติ โดยมีสื่อเป็นผู้นำ” สถาพรมอง
นอกจากข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ของสื่อ สถาพรเพิ่มเติมสิ่งที่สื่อมวลชนควรจะตระหนักในภัยพิบัติคือ การเตรียมความพร้อม ทั้งในเชิงข้อมูลที่ต้องใช้รายงาน และความพร้อมในแง่อุปกรณ์ เพื่อไม่ให้นักข่าวกลายเป็น ‘ผู้ประสบภัย’ เสียเอง
“เราเตรียมตัวให้ดีได้ ถ้าน้ำท่วมก็เตรียม เสื้อชูชีพ, อุปกรณ์กันน้ำ, อาหารแห้ง ถึงแม้เราคงไม่ได้ติดอยู่ในนั้นกับเขา แต่ถ้าเราติดของจำเป็นไปได้ ให้เป็นความรู้สึกว่าเราไม่ได้ซ้ำเติมที่เกิดเหตุ” สถาพรกล่าว
เขายกตัวอย่างประสบการณ์ที่ไปทำข่าวแผ่นดินไหว ที่เมืองคุมาโมะโตะ ประเทศญี่ปุ่นในปี 2559 ทันทีที่เขาลงจากสนามบินผู้ประสานงานในพื้นที่ (Fixer) ก็ให้เขาซื้อของใช้จำเป็นทั้งหมดเอาไว้ เช่น น้ำเปล่า, อาหารแห้ง, จานชามพลาสติก เพราะคนญี่ปุ่นถือว่าคนนอกที่เข้าไปในพื้นที่จะต้องไม่เข้าไปใช้ทรัพยากรของคนในพื้นที่เด็ดขาด
“ของแค่นี้ไม่ได้สร้างภาระให้นักข่าวเยอะ แต่มันถูกปลูกฝังให้เป็นความเข้าใจที่ตรงกันว่า คนที่จะเข้าไปที่เกิดเหตุคุณต้องไม่เป็นภาระเขา คุณต้องทำตัวให้มีประโยชน์และเหมาะสม เลยคิดว่ามันเป็นวิธีคิดที่ควรจะเอามาเผยแพร่” สถาพรระบุ
หากจะมาปรับใช้กับประเทศไทย เขาอยากชวนให้ทุกสำนักข่าวสนับสนุนอุปกรณ์ให้นักข่าว เช่น ในกรณีข่าวน้ำท่วมก็มีเสื้อชูชีพให้ ในกรณีข่าวแผ่นดินไหวก็มีหมวกนิรภัยให้ ซึ่งการทำเช่นนี้จะเป็นการยกระดับวงการสื่อให้ดูมีความพร้อมและมืออาชีพยิ่งขึ้น
“มันทำให้ภาพรวมของสื่อมวลชนดูเป็นมืออาชีพ พอสื่อส่วนใหญ่ทำ มันก็เป็นการกดดันไปในตัวให้ทุกคนต้องทำตาม แบบนี้จะช่วยกันยกระดับวงการขึ้นไป องค์กรไหนไม่สนับสนุนไม่มีอุปกรณ์ คุณจะดูล้าหลัง” สถาพรกล่าวก่อนทิ้งท้าย “เราต้องปลูกฝังความเป็นมืออาชีพ ความรู้สึกร่วมแบบนี้ไว้ในตัวคนที่ลงไปทำงานทุกคน”
“มัน (การมีอุปกรณ์ที่ครบถ้วนและเตรียมความพร้อม) ทำให้ภาพรวมของสื่อมวลชนดูเป็นมืออาชีพ พอสื่อส่วนใหญ่ทำ มันจะช่วยกันยกระดับวงการขึ้นไป องค์กรไหนไม่สนับสนุนไม่มีอุปกรณ์ คุณจะดูล้าหลัง” สถาพรกล่าว
เมื่อสถานการณ์สิ้นสุด สื่อหมดหน้าที่หรือยัง
“ประชาชนคาดหวังว่าเขาจะไม่ต้องเผชิญเหตุการณ์แบบนี้อีก สุดท้ายมันไม่ใช่แค่คำว่าถอดบทเรียน มันคือการย้อนกลับไปหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้สถานการณ์ร้ายแรงกว่าที่ควรจะเป็น อะไรที่ควบคุมได้และอะไรที่เราควบคุมไม่ได้ เราต้องขยายและดึงมันออกมา” สถาพรกล่าว
สถาพรยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซากใน อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาทุกปี ในตอนนั้นภาครัฐใช้วิธีให้คนที่ต้นคันกั้นน้ำโทรบอกคนในหมู่บ้าน แต่ในความเป็นจริง เมื่อน้ำมาถึงเสาสัญญาณก็พังหมดแล้ว แสดงว่าเป็นระบบเตือนภัยที่ใช้ไม่ได้
“ภาครัฐฝากชีวิตคนบางสะพานไว้กับโทรศัพท์เครื่องเดียว นี่คือระบบเตือนภัยหรือ สื่อต้องทำข่าวต่อไปเพื่อบอกว่าระบบนี้มันไม่เวิร์ก” สถาพรกล่าว
ระวี ตะวันณรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มองตรงกันว่า ในการทำข่าวภัยพิบัติ “สื่อหยุดไม่ได้เลย” ในการทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ตรวจสอบผู้มีอำนาจ และร่วมค้นหาสาเหตุอย่างสม่ำเสมอ
“เราต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าทำไม กทม. ถึงเผชิญแผ่นดินไหวแรงว่าเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนเข้าใจวิกฤตหรืออุบัติภัยที่จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ในโลกใบนี้ สื่อหยุดไม่ได้ ต้องทำหน้าที่ต่อ” ระวีกล่าว
ระวีเสริมว่า ส่วนตัวชื่นชมการทำหน้าที่ตรวจสอบสาเหตุการถล่มของอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ซึ่งสะท้อนการทำหน้าที่ที่ดีขึ้นของสื่อมวลชน
การตรวจสอบหลังเกิดภัยพิบัติของสื่อเป็นไปได้หลายทิศทาง อาทิ การตรวจสอบการจ่ายเงินเยียวยา, มีการบิดเบือนตัวเลขผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บหรือไม่, การตัดสินใจของผู้มีอำนาจส่งผลต่อสถานการณ์อย่างไร, ใครได้ประโยชน์จากภัยพิบัติ ตลอดจนคำถามอื่น ๆ ที่สำคัญ
พัฒนาวงการไปทางไหนต่อ
แม้ภาพใหญ่จะมองว่า สื่อไทยรายงานข่าวแผ่นดินไหวที่ผ่านมาได้ดี แต่ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ก็ยังคิดว่า สื่อควรระมัดระวังการเข้าพื้นที่เกิดเหตุให้มากขึ้น เช่นพื้นที่อาคาร สตง.ที่พังถล่มลงมา เพราะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ยาก
“ถ้าในต่างประเทศ เหตุการณ์ภัยพิบัติหรือกราดยิง เขาห้ามสื่อถ่ายเลยนะ เขาจะเอาผ้ามากั้นไม่ให้ถ่ายแม้กระทั่งการพบผู้สูญหายหรือบาดเจ็บ แต่ตอนนี้บางช่องของเรายังไลฟ์สดกันตลอดเวลา” ระวีกล่าว
เขามีข้อเสนอว่า อยากให้มีการก่อตั้ง ‘โต๊ะข่าวภัยพิบัติ’ ในสื่อแต่ละหัวโดยเฉพาะ เพื่อรายงานเหตุการณ์ไม่ว่า น้ำป่าไหลหลาก, PM2.5, ไฟป่า โดยจะเป็นช่องทางที่ไม่มีวันขาดการติดต่อสื่อสารแม้จะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
สถาพรเห็นตรงกันถึงความสำคัญของการทำเนื้อหาต่อเนื่องหลังจากภัยพิบัติ แต่ก็ตระหนักถึงความสำคัญของเรตติ้งสื่อเช่นกัน ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทั้งผู้ชมและองค์กรภายนอกที่มีงบประมาณช่วยกันทั้งสองฝ่าย
“ต้องยอมรับว่าสื่อก็คือธุรกิจ มันต้องอยู่รอด ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่ทำต่อเนื่องมีคุณค่าทางการตลาด คุ้มกับการลงทุน และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระยะยาวที่แท้จริง” สถาพรระบุ
“บางทีองค์กรที่มีงบสนับสนุน เช่น กสทช. อาจเข้ามาเป็นแกนกลางของสิ่งเหล่านี้ได้ เพื่อให้สื่อไม่ต้องควักเนื้อตัวเอง” ผู้สื่อข่าวอิสระที่เคยทำงานมาในสื่อไทยหลายสำนักทิ้งท้าย