svasdssvasds

เผยเกือบทุกประเทศพลาดเส้นตายส่งแผนแก้ปัญหาโลกร้อน

เผยเกือบทุกประเทศพลาดเส้นตายส่งแผนแก้ปัญหาโลกร้อน

เกือบทุกประเทศที่ลงนามในข้อตกลงปารีส 2015 รวมถึง ประเทศผู้ก่อมลพิษรายใหญ่สุดของโลกหลายชาติ รวมถึง จีน อินเดียและสหภาพยุโรป พลาดเส้นตายในการส่งเป้าหมายด้านสภาพอากาศใหม่ให้กับสหประชาชาติ (UN)

SHORT CUT

  • สหภาพยุโรป (EU) รวมถึง จีนและอินเดีย เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่พลาดเส้นตาย
  • คาดปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ จะเพิกเผยต่อแผนแก้ปัญหาโลกร้อนของอดีตปธน.โจ ไบเดน
  • สหประชาชาติเผยยังหวังจะได้รับแผนต่าง ๆ จากประเทศส่วนใหญ่ในปีนี้

เกือบทุกประเทศที่ลงนามในข้อตกลงปารีส 2015 รวมถึง ประเทศผู้ก่อมลพิษรายใหญ่สุดของโลกหลายชาติ รวมถึง จีน อินเดียและสหภาพยุโรป พลาดเส้นตายในการส่งเป้าหมายด้านสภาพอากาศใหม่ให้กับสหประชาชาติ (UN)

ประเทศผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุดของโลกหลายประเทศพลาดเส้นตายของสหประชาชาติ (UN) ในส่งแผนการกำหนดเป้าหมายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่ความพยายามในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน หลังการกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

เดิม เกือบ 200 ประเทศที่ลงนามในข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement) ต้องส่งแผนการที่ระบุเป้าหมายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2035 และรายละเอียดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้กับสหประชาชาติ (UN) ภายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุดของโลกหลายประเทศ รวมถึง จีน อินเดียและสหภาพยุโรป (EU) พลาดเส้นตายดังกล่าว

Credit Reuters

“บิล แฮร์” (Bill Hare) ซีอีโอของ Climate Analytics  สถาบันวิทยาศาสตร์และนโยบาย เปิดเผยว่า สาธารณชนมีสิทธิ์ที่จะคาดหวังปฏิกิริยาที่รุนแรงจากรัฐบาลของตัวเองต่อข้อเท็จจริงที่ว่าอุณหภูมิโลกร้อนแตะระดับ 1.5 องศาเซลเซียสมาตลอดทั้งปี แต่ประชาชนแทบไม่เห็นว่ารัฐบาลมีการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นรูปเป็นร่างเลย

เผยเกือบทุกประเทศพลาดเส้นตายส่งแผนแก้ปัญหาโลกร้อน

สำหรับข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ได้รับการรับรองในการประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติในกรุงปารีสของฝรั่งเศส เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2015 มุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ พยายามจำกัดอุณภูมิโลกให้ต่ำกว่าระดับ 1.5 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่การดำเนินการจนถึงปัจจุบันยังคงห่างไกลจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ และปี 2024 ยังเป็นปีแรกที่โลกร้อนทะลุขีดจำกัด 1.5 องศาเซลเซียสด้วย

ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ประกาศเป้าหมายใหม่ในการจัดการภาวะโลกร้อน ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ บราซิล ญี่ปุ่นและแคนาดา แม้จะมีการคาดการณ์ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ จะระงับแผนดังกล่าวที่ทำขึ้นในสมัยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ตาม หลังจากเพิ่งจะสั่งให้รัฐบาลถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส และระงับการใช้จ่ายภาครัฐบางส่วนในด้านพลังงานสะอาด เมื่อเดือนที่แล้ว

“ไซมอน สตีลล์” (Simon Stiell) เลขาธิการบริหาร สำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เปิดเผยในสัปดาห์ที่แล้วว่า ประเทศส่วนใหญ่ให้คำมั่นว่าจะยังคงเดินหน้าจัดทำแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อในปีนี้

แต่การพลาดเส้นตายดังกล่าวทำให้เกิดความเป็นกังวลว่าการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อวาระต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่บางส่วนส่งสัญญาณว่าการกลับหลังหันในนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ กำลังขัดขวางความพยายามของประเทศอื่น ๆ

“โวปเกอ ฮุกสตรา” (Wopke Hoekstra) กรรมาธิการยุโรปด้านสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และการเติบโตที่สะอาด เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สในเดือนที่แล้วว่า วงจรการกำหนดนโยบายของสหภาพยุโรปไม่สอดคล้องกับเส้นตายของสหประชาชาติ แต่มีแผนพร้อมสำหรับการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 30 หรือ COP30 ซึ่งจะจัดขึ้นที่บราซิลในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้

Credit Reuters

เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอินเดีย ระบุว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการศึกษาวิจัยที่จำเป็นต่อการออกแบบแผนสภาพภูมิอากาศใหม่อยู่ในขณะนี้และยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงว่า จะเผยแพร่แผนดังกล่าวในเวลาอันสมควร

ด้านโฆษกกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินโดนีเซีย กล่าวว่า กระทรวงกำลังรอคำแนะนำจากทำเนียบประธานาธิบดีในการส่งเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่รัฐบาลอิหร่าน รัสเซียและแอฟริกาใต้ ไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็น

 

ที่มา: Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related