กรมลดโลกร้อน บูรณาการหน่วยงานกำหนดตัวชี้วัดการปรับตัวฯ พัฒนาระบบติดตามประเมินผลรายสาขาของประเทศไทยสู่เป้าหมายระดับโลก
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษา “โครงการจัดทำฐานข้อมูลในการติดตามประเมินผลการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายสาขา” บูรณาการหน่วยงานจัดทำฐานข้อมูล กำหนดตัวชี้วัดเพื่อพัฒนาระบบติดตามประเมินผลการปรับตัวฯ รายสาขาของประเทศไทยสู่เป้าหมายระดับโลก โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานประสานงานกลางด้านการปรับตัวฯ 6 สาขา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกว่า 150 คน ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทุกประเทศมีความเข้มข้นมากขึ้น และกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิก จัดส่งรายงานความโปร่งใสรายสองปี (BTR) และรายงานแห่งชาติ (NC) ทุก 4 ปี รวมถึงมีการจัดทำรายงานการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินการระดับโลก (Global Stocktake: GST) ทุก 5 ปี เพื่อสะท้อนถึงความก้าวหน้าของโลกในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่การวิเคราะห์ความเสี่ยง การจัดทำแผน การดำเนินงานตามแผนและการติดตามประเมินผล ซึ่งกระบวนการติดตามประเมินผลเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะต้องพิจารณาถึงแนวทาง รูปแบบและขั้นตอนการติดตาม ตัวชี้วัดที่ตอบเป้าหมายระดับโลกและระดับประเทศ วิธีการประเมินผล โครงสร้างเชิงสถาบันหรือกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และการนำผลการประเมินไปถอดบทเรียนความสำเร็จ รวมถึงความต้องการการสนับสนุนจากในประเทศและต่างประเทศ ทั้งด้านการเงิน เทคโนโลยี การเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร และการทบทวนแผนด้านการปรับตัวของประเทศ
สำหรับการดำเนินโครงการจัดทำฐานข้อมูลในการติดตามประเมินผลการปรับตัวฯ รายสาขา ได้มีการรวบรวมข้อมูลการติดตามประเมินผลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีกลุ่มตัวชี้วัด 2 กลุ่ม ได้แก่ “กลุ่มติดตาม” (Monitoring) ที่เป็นข้อมูลจากการประเมินผลการดำเนินงานของโครงการหรือกิจกรรมของหน่วยงานประสานงานกลางรายสาขา และ “กลุ่มประเมินผล” (Evaluation) ที่ใช้ประเมินผลสัมฤทธิ์ที่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านการปรับตัวฯ ระดับชาติ
นอกจากนี้ ได้มีการนำตัวชี้วัดไปจัดทำฐานข้อมูลการติดตามประเมินผลด้านการปรับตัวฯ รวมถึงจัดทำคู่มือการติดตามประเมินผลการปรับตัวฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการและใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งการประชุมวันนี้จะมีการระดมความคิดเห็นและรวบรวมข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเติมเต็มข้อมูลที่เป็นช่องว่าง (gap analysis) ของตัวชี้วัดรายสาขาให้สมบูรณ์ โดยกรมฯ จะนำข้อมูลไปจัดทำระบบการติดตามประเมินผล รวมถึงในปี 2569 ได้มีแผนจัดทำ Platform ด้วยการนำแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลมาพัฒนาในส่วนของฐานข้อมูลกลาง และใช้ในการจัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปี (BTR) รายงานแห่งชาติ (NC) ทุก 4 ปี อีกทั้ง นำผลการประเมินไปใช้ในการทบทวนแผนและยุทธศาสตร์ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศต่อไป