งานศึกษาชิ้นใหม่พบ ภาวะโลกร้อนได้เร่งตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในช่วงทศวรรษ 1980 ถึง 4 เท่า เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น
ผลการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2025 ใน Environmental Research Letters เผยข้อมูลเชิงลึกที่แสดงใให้เห็นว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรโลกในปี 2023 และต้นปี 2024 ได้เพิ่มสูงถึงระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 ที่มหาสมุทรร้อนขึ้นประมาณ 0.06 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ แต่ในปัจจุบันอัตราดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 0.27 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ ร้อนขึ้นเร็วกว่าเดิมถึง 4 เท่า
ศาสตราจารย์คริส เมอร์แชนท์ จากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง (University of Reading) ได้เปรียบเทียบสถานการณ์นี้กับอ่างน้ำที่เติมน้ำร้อนลงไป ระบุว่า 'หากมหาสมุทรเป็นอ่างน้ำ ในทศวรรษ 1980 ก๊อกน้ำร้อนจะค่อยๆ ถูกเปิดให้ไหลอย่างช้าๆ ทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้นเพียงเศษเสี้ยวขององศาในแต่ละทศวรรษ แต่ปัจจุบัน ก๊อกน้ำร้อนถูกเปิดแรงขึ้นมาก ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลก็ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีที่จะชะลออุณหภูมิโลกร้อนลงได้ก็คือเริ่มปิดก๊อกน้ำร้อน ด้วยลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกและมุ่งหน้าสู่เป้าหมายเป็นศูนย์'
ภาวะโลกร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้เกิดจากความไม่สมดุลของพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นของโลก ซึ่งทำให้ระบบโลกดูดซับพลังงานจากดวงอาทิตย์มากกว่าที่ปล่อยกลับสู่อวกาศ ความไม่สมดุลนี้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น และเนื่องจากปัจจุบันโลกมีความสามารถในการสะท้อนแสงอาทิตย์ไปออกยังอวกาศน้อยลงกว่าเมื่อก่อน
มีบันทึกว่าอุณหภูมิของมหาสมุทรทั่วโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกัน 450 วันในปี 2023 และต้นปี 2024 ความร้อนส่วนหนึ่งมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทำให้มหาสมุทรแปซิฟิกร้อนขึ้น
สิ่งที่น่ากังวลคือการที่นักวิทยาศาสตร์ยังคาดการณ์ว่าในอนาคตโลกจะยังร้อนเร็วขึ้นอีก โดยเฉพาะในช่วง 20 ปีข้างหน้า เนื่องจากพื้นผิวมหาสมุทรเป็นตัวกำหนดอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก เรื่องนี้จึงมีความสำคัญต่อสภาพภูมิอากาศโดยรวม การที่โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อเริ่มรักษาเสถียรภาพของสภาพภูมิอากาศ