svasdssvasds

มกราคมปีนี้ทำลายสถิติร้อนที่สุด แม้แต่ 'ลานีญา' ก็ทำให้โลกเย็นขึ้นไม่ได้

มกราคมปีนี้ทำลายสถิติร้อนที่สุด แม้แต่ 'ลานีญา' ก็ทำให้โลกเย็นขึ้นไม่ได้

นักวิทย์หาคำตอบวุ่น เมื่อปรากฏการณ์ 'ลานีญา' ปีนี้ แทบไม่ช่วยให้อุณภูมิโลกเย็นขึ้น ขณะที่เดือนมกราคมที่ผ่านมาได้ทำลายสถิติช่วงที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้

รู้ไหมว่าเราเพิ่งจะผ่านเดือนมกราคมที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ โดยสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.7 องศาเซลเซียส และแม้ว่าผู้สังเกตการณ์สภาพอากาศหลายคนคาดการณ์ไว้ว่าโลกจะเย็นลงเล็กน้อยในปีนี้ เนื่องมาจากปรากฏการณ์ 'ลานีญา' ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่กลายเป็นว่า 'ภาวะโลกร้อน' ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์นั้น ส่งผลกระทบต่อรูปแบบสภาพอากาศตามธรรมชาติมากกว่าที่เราคิด

เอลนีโญ - ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดควบคู่กัน  และสร้างผลกระทบต่อสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยปกติแล้วอุณหภูมิของโลกจะร้อนขึ้นในช่วงที่มีปรากฏการณ์เอลนีโญ และจะเย็นลงในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญา

มกราคมปีนี้ทำลายสถิติร้อนที่สุด แม้แต่ \'ลานีญา\' ก็ทำให้โลกเย็นขึ้นไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นในปีนี้ กลับไม่สามารถทำให้โลกเย็นลงได้มากเท่าที่คิด ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องออกมาหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับสภาพอากาศของโลกกันแน่

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่คิดว่านี่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ หลังจากที่เราได้เผชิญลานีญาที่ยาวนานเมื่อปี 2020 และเอลนีโญที่ทวีความรุนแรงอย่างผิดปกติในปี 2023 มาแล้ว โดยคำอธิบายของพวกเขาระบุว่า สาเหตุมาจากการที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิอุ่นขึ้นทั่วโลก ปรากฏการณ์ลานีญาจึงส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณแนวเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิกเย็นลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

งานวิจัยล่าสุดยังแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมของมนุษย์กำลังทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ 'ภาวะโลกร้อน' มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่เหนือปรากฏการณ์ธรรมชาติ อย่างเอลนีโญ-ลานีญา ซึ่งหมายความว่าแม้กระทั่งในช่วงปรากฏการณ์ลานีญาที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกมีอุณหภูมิที่เย็นกว่าปกติ แต่มหาสมุทรอื่นๆ ของโลกก็จะยังคงอุ่นขึ้นเหมือนไม่ได้รับผลกระทบใดๆ

แม้ว่าเดือนมกราคมที่มีอุณหภูมิสูงเป็นพิเศษของปีนี้จะไม่ใช่เหตุการณ์ที่น่าวิตกกังวล แต่ก็แสดงให้เห็นว่าช่วงที่โลกควรมีอากาศเย็นลงตามธรรมชาติอาจมีประสิทธิภาพน้อยลงในการชดเชยอุณหภูมิจาก 'ภาวะโลกร้อน' ที่เป็นผลกระทบจากระดับก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าทั่วโลกมีความจำเป็นที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ส่งผลต่อระบบนิเวศยังคงทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ