svasdssvasds

ไทยเตรียมคลอด “ภาษีคาร์บอน” เข้า ครม. ยันไม่กระทบต้นทุนราคาน้ำมันระยะแรก

ไทยเตรียมคลอด “ภาษีคาร์บอน”  เข้า ครม. ยันไม่กระทบต้นทุนราคาน้ำมันระยะแรก

พามาดูความคืบหน้า “ภาษีคาร์บอน” ที่ไทยเตรียมจะคลอด “ภาษีคาร์บอน” เข้า ครม. เดือนนี้ พร้อมยืนยันไม่กระทบต้นทุนราคาน้ำมันระยะแรก

SHORT CUT

  • ภาษีคาร์บอน Carbon Tax เป็นค่าธรรมเนียมหรือภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากการผลิต การจำหน่าย หรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน
  • ประเทศไทย“ภาษีคาร์บอน”  กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเข้า ครม. หลังจากที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองเศรษฐกิจฯ ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง เป็นประธาน
  • โดยภาษีคาร์บอนที่จะเสนอเข้าครม.นั้น จะมีการแก้กฎกระทรวง และออกประกาศกรมสรรพสามิตกำหนดภาษีคาร์บอนในน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยกำหนดราคาที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า

พามาดูความคืบหน้า “ภาษีคาร์บอน” ที่ไทยเตรียมจะคลอด “ภาษีคาร์บอน” เข้า ครม. เดือนนี้ พร้อมยืนยันไม่กระทบต้นทุนราคาน้ำมันระยะแรก

รู้หรือไม่ว่า?ภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax เป็นค่าธรรมเนียมหรือภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากการผลิต การจำหน่าย หรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ซึ่งเมื่อเผาไหม้เชื้อเพลิงพวกนี้แล้วจะทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ และถูกปลดปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก การเรียกเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาในแต่ละครั้งของการดำเนินกิจกรรมของโรงงาน โรงไฟฟ้า และยานยนต์ต่างๆ

ทั้งนี้พื้นฐานแล้วภาษีคาร์บอนเป็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ โรงงานหรือบริษัทใดผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มากก็ต้องจ่ายภาษีมาก โดยอาศัยหลักการทางเศรษฐศาสตร์เรื่อง ผลกระทบภายนอกในเชิงลบ Negative Externality หมายถึง ผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกรรมทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ผลกระทบต่อชุมชนซึ่งเกิดจากการก่อมลภาวะของโรงงาน ซึ่งส่วนมากยังไม่ได้รวมเอาต้นทุนส่วนนี้เข้าไปในการคิดต้นทุนรวมของธุรกรรม ทำให้ไม่แสดงต้นทุนที่แท้จริง

โดยกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริการสาธารณูปโภค ธุรกิจ ร้านค้า โรงงาน บ้านเรือน ยานพาหนะ ได้ใช้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลซึ่งเมื่อเกิดการเผาไหม้แล้วจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลพิษอื่นๆ เข้าสู่บรรยากาศ ซึ่งเป็นต้นทุนของสังคม เพราะว่ามลพิษนั้นมีผลกระทบต่อทุกคนในชุมชน ในหลายๆด้านด้วยกัน ไม่ว่าะเป็นด้านสุขภาพอนามัย การลดลงและเสื่อมสภาพของทรัพยากร การเสื่อมมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายที่ต้องแบบรับในการที่เพิ่มก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกให้เร็วขึ้น

ในส่วนของประเทศไทย “ภาษีคาร์บอน”  กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเข้า ครม. หลังจากที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองเศรษฐกิจฯ ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง เป็นประธาน ซึ่งล่าสุด ล่าสุดมีรายงานจากกระทรวงการคลังว่า ระบุว่าที่ประชุมได้เชิญหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็น รวมทั้งกระทรวงพลังงาน เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข้อกังวลในประเด็นของการจัดเก็บภาษีที่จะเริ่มจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันว่า จะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบการและประชาชน

ทั้งนี้ที่ประชุมได้ข้อสรุปและจะส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไปภายในเดือนม.ค.นี้ ซึ่งอาจทำให้การจัดเก็บภาษีคาร์บอนมีผลบังคับล่าช้าจากเดิม แต่จะไม่มีผลกระทบมากนักเนื่องจากอัตราภาษีคาร์บอนอยู่บนพื้นฐานของภาษีสรรพสามิตน้ำมันเดิม

ยัน 'ภาษีคาร์บอน' ไม่กระทบต้นทุนราคาน้ำมันในเฟสแรก

อย่างไรก็ตามภาษีคาร์บอนที่จะเสนอเข้าครม.นั้น จะมีการแก้กฎกระทรวง และออกประกาศกรมสรรพสามิตกำหนดภาษีคาร์บอนในน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยกำหนดราคาที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า รวมทั้งอัตราดังกล่าวจะทำให้น้ำมันดีเซล 1 ลิตร คำนวณการปล่อยคาร์บอน 0.0027 คูณกับราคาคาร์บอน 200 บาท เท่ากับต้องจ่ายภาษีคาร์บอน 0.55 บาทต่อลิตร

โดยภาษีคาร์บอน 0.55 บาท ดังกล่าว จะรวมอยู่ในภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บอัตราลิตรละ 6.44 บาท ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดเก็บภาษีของญี่ปุ่นที่กระทรวงการคลังนำมาปรับใช้ในไทย ซึ่งระยะแรกจะมีการปรับใช้ภาษีคาร์บอนโดยใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน โดยไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชน  จึงทำให้การบังคับใช้ภาษีคาร์บอนระยะแรกจะไม่มีผลกระทบต้นทุนราคาน้ำมัน

นอกจากนี้กระทรวงการคลังยัง ระบุอีกว่า ระยะเริ่มต้นจะคำนึงถึงผลกระทบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งที่คิดเป็น 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ขณะที่ในระยะต่อไปจำเป็นที่จะต้องขยับเพิ่มตามความเหมาะสม เพื่อเป็นกลไกที่สนับสนุนการลดโลกร้อนมากขึ้น สำหรับประเภทน้ำมันที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก ราคาภาษีคาร์บอนก็จะสูงกว่าน้ำมันที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า ซึ่งอัตราภาษีสรรพสามิตในปัจจุบัน น้ำมันที่ใช้พลังงานทดแทนก็มีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า

สำหรับผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าออกไปยังประเทศปลายทางที่เสียภาษีในส่วนนี้สามารถนำไปเจรจาลดหย่อนค่าธรรมเนียม Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ได้อีกด้วย ดังนั้นต้องจับตาดูว่าเดือนมกราคม 2568 'ภาษีคาร์บอน' จะเข้า ครม. และผ่านการเห็นชอบจาก ครม. ได้หรือไม่ และภาคธุรกิจไทยต้องวางแผนปรับตัวรับมือภาษีนี้อย่างไร?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related