SHORT CUT
นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่าพบวาฬหลังค่อมตัวหนึ่งอพยพย้ายถิ่นที่ยาวนานและผิดปกติที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดร.เอกาเทรินา คาลาชนิโควา (Ekaterina Kalashnikova) จากโครงการ Tanzania Cetaceans Program เปิดเผยว่า วาฬหลังค่อมตัวผู้ตัวหนึ่งถูกพบนอกชายฝั่งของโคลอมเบียในมหาสมุทรแปซิฟิกในปี 2017 ก่อนจะมีรายการการพบวาฬตัวดังกล่าวอีกครั้งในอีกหลายปีต่อมา ใกล้กับเกาะแซนซิบาร์ของแทนซาเนีย ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีระยะทางห่างกันอย่างน้อย 13,000 กิโลเมตร
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การเดินทางสุดมหากาพย์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลทำให้ปริมาณอาหารของวาฬลดลงหรืออาจเป็นการผจญภัยที่ยาวนานเพื่อหาคู่
ดร.คาลาชนิโควา ระบุว่า ความสำเร็จดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่ผิดปกติ แม้แต่กับสายพันธุ์ที่มีการอพยย้ายถิ่นฐานสูงเช่นนี้ พร้อมเสริมว่า มีความเป็นไปได้ที่นี่จะเป็นการเดินทางของวาฬหลังค่อมเป็นระยะทางไกลที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา
วาฬหลังค่อมอาศัยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลก ทุก ๆ ปีวาฬสายพันธุ์นี้จะว่ายน้ำเป็นระยะไกล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการอพยพที่ยาวนานที่สุดของบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยพวกมันจะเดินทางจากแหล่งเพาะพันธุ์ในเขตร้อนไปยังแหล่งอาหารในน่านน้ำที่อุณหภูมิเย็นกว่า
ขณะที่การเดินทางของวาฬหลังค่อมตัวนี้ เป็นการเดินทางที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่าปกติ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับแหล่งเพาะพันธุ์ที่อยู่ห่างไกลกัน 2 แห่ง
ทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายความเป็นไปได้ของปรากฎการณ์นี้ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงความอุดมสมบูรณ์ของ “คริลล์” (Krill) สัตว์ที่มีลักษณะคล้ายกุ้งตัวเล็ก ๆ ซึ่งเป็นอาหารของวาฬหลังค่อม ทำให้พวกมันต้องเดินทางไกลขึ้นกว่าเดิมเพื่อหาอาหาร
ส่วนอีกทฤษฏีหนึ่ง คือ วาฬหลังค่อมเหล่านี้อาจต้องการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์แห่งใหม่ เนื่องจากจำนวนประชากรของวาฬหลังค่อมเริ่มฟื้นกลับคืนมาผ่านความพยายามของโครงการอนุรักษ์ระดับโลกต่าง ๆ
ดร.คาลาชนิโควา ระบุว่า “แม้จะยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด แต่อาจจะเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ปรากฎการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่สุดขั้ว อย่างที่พบเห็นได้มากขึ้นในปัจจุบัน และ กลไกเชิงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้ก็เป็นได้”
สำหรับวาฬหลังค่อมตัวผู้ที่ร่อนเร่พเนจรตัวนี้ เป็นหนึ่งในกลุ่มวาฬหลังค่อมที่ถูกบันทึกภาพไว้ได้จากเรือสำรวจลำหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิก นอกชายฝั่งของโคลอมเบีย เมื่อปี 2013 ก่อนที่จะถูกพบในบริเวณใกล้เคียงอีกครั้งในปี 2017 และนอกชายฝั่งของเกาะแซนซิบาร์ในปี 2022
การพบวาฬหลังค่อมตัวนี้อยู่ในจุดที่มีระยะทางห่างกันถึง 13,046 กิโลเมตร ตามเส้นรอบวงใหญ่ (Great circle distance) ระยะทางที่สั้นที่สุดระหว่างจุดสองจุดที่วาฬตัวนี้เดินทาง แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ระยะทางจริงอาจจะไกลกว่านี้มาก
เนื่องด้วยโลกเป็นทรงกลม เส้นทางที่สั้นที่สุดระหว่างจุดสองจุดจึงปรากฎในระยะทางบนเส้นรอบวงใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับส่วนโค้งที่เชื่อมจุดสองจุดบนทรงกลม
การศึกษานี้ อ้างอิงกับฐานข้อมูลภาพถ่ายวาฬหลายพันรูปที่ส่งมาจากนักวิจัย นักสังเกตการณ์วาฬและสมาชิกของเว็บไซต์วิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองที่มีชื่อว่า happywhale.com
ฐานข้อมูลของเว็บไซต์ดังกล่าวใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการจับคู่รูปร่างและรูปแบบของครีบหางวาฬหลังค่อมแต่ละตัว เพื่อจัดทำแผนที่การเคลื่อนไหวของพวกมันในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Royal Society Open Science ด้วย
ที่มา: BBC