ในขณะที่การแก้ปัญหาสิ่งแววดล้อมกำลังได้รับความสนใจ แต่ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกกลับยังคงเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกอย่างน่าแปลกใจ ล่าสุดในการประชุม COP29 จึงมีการเปิดรายชื่อเมืองที่มีมลพิษมากที่สุด หวังทุกฝ่ายเร่งแก้ไข
รายงานจากการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP29 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2565 ถึง 2566 จีน อินเดีย อิหร่าน อินโดนีเซีย และรัสเซีย คือประเทศที่พบการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นสูงที่สุด ขณะที่เวเนซุเอลา ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา มีระดับมลพิษลดลงมากที่สุด
เมืองที่มีการปล่อยมลพิษมากที่สุดตามข้อมูลการสังเกตและประเมินโดยปัญญาประดิษฐ์ คือนครเซี่ยงไฮ้ของจีน ส่วนอีกหลายเมืองในเอเชียและสหรัฐอเมริกาก็ถูกระบุว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน
โดยเซี่ยงไฮ้มีก๊าซเรือนกระจก 256 ล้านตัน ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาเมืองทั้งหมด และสูงกว่าตัวเลขของโคลอมเบียหรือนอร์เวย์ทั้งประเทศรวมกัน ส่วนกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นมีก๊าซเรือนกระจก 250 ล้านตัน นิวยอร์กซิตี้มีก๊าซเรือนกระจก 160 ล้านตัน และกรุงโซลของเกาหลีใต้ มีก๊าซเรือนกระจก 142 ล้านตัน
ประเด็นดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดานักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่านานาชาติยังไร้ความสามารถที่จะปราบปรามการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้โลกร้อน รวมถึงการควบคุมบริษัทหรืออุตสาหกรรมต่างๆ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
นอกจากนี้ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า จีนได้กลายเป็นจุดร้อนของก๊าซเรือนกระจกของโลก เมื่อตรวจสอบรายชื่อเมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่า 1 พันล้านตัน พบว่ามีมากถึง 7 เมืองที่อยู่ในประเทศจีน
ชุดข้อมูลนี้ได้รับการดูแลโดยนักวิทยาศาสตร์และนักวิเคราะห์จากทั่วโลก ซึ่งประเมินด้วยการพิจารณาถึงมลพิษแบบดั้งเดิม เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ สารอินทรีย์ระเหยง่าย แอมโมเนีย ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารเคมีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอากาศที่สกปรก โดยระบุว่า 'การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล' จะก่อให้เกิดมลพิษทั้งสองประเภท ซึ่งถือเป็น “ภัยคุกคามต่อสุขภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติต้องเผชิญ”