เปิดวาทะเด็ดจาก เกรต้า ธันเบิร์ก หลังได้ร่วมประท้วงที่ประเทศจอร์เจีย กล่าวโจมตีอาเซอร์ไบจาน ประเทศเจ้าภาพการประชุม COP 29 โดยบอกว่า กำลังใช้การประชุมนี้ ปกปิดเรื่องสิทธิมนุษยชน
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า วานนี้ (11 พ.ย. 67) เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน วัย 21 ปี รวมตัวกับกลุ่มผู้ชุมนุมหลายสิบคนที่จัตุรัสเสรีภาพในทบิลิซี เมืองหลวงของประเทศจอร์เจีย
โดยโต้แย้งว่าอาเซอร์ไบจานไม่สมควรเป็นประเทศเจ้าภาพการประชุม COP 29 เนื่องจากมีนโยบายปรามปราม และกดขี่ประชาชน
ณ เวลานี้ ผู้แทนจากเกือบ 200 ประเทศ ได้รวมตัวกันที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 โดยหัวข้อการหารือในครั้งนี้คือ การจัดหาเงินทุนเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพอากาศสำหรับประเทศกำลังพัฒนา (Climate finance) จำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี นี่คือครั้งแรกที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกขึ้นเป็นเจ้าภาพ
เกรต้า ธันเบิร์ก เปิดเผยว่า “อาเซอร์ไบจาน ทั้งกดขี่ และยึดครองดินแดน แถมยังกวาดล้างชาติพันธุ์ ปราบปรามพลเมือง และผู้บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง” เธอกล่าวเพิ่มว่า อาเซอร์ไบจานใช้การประชุมครั้งนี้เพื่อฟอกเขียวอาชญกรรมโดยรัฐ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน
จะเสพเรื่องราวนี้ให้กว้างและชัดเจน ต้องทราบเรื่องราวความเป็นมาเสียก่อน อิลฮัม อาลีเยฟ ขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งอาเซอร์ไบจานต่อจากพ่อที่เสียชีวิต มาตั้งแต่ปี 2546 หลังจากนั้น อาเซอร์ไบจานก็ถูกครหาว่ามีการผูกขาดทางการเมือง และที่เป็นปัญหาที่สุดคือเรื่องสิทธิมนุษยชน มีการจับผู้เห็นต่างทางการเมือง รวมถึงจับกุมนักข่าวที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ
ข้อมูลจาก Human Rights Watch ระบุว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอาเซอร์ไบจานไม่ดีขึ้น มีพลเมืองกว่า 20 รายซึ่งถูกจับกุมด้วยข้อหาทางการเมือง และยังมีอีก 30 คน ที่กำลังถูกจำคุกโดยมิชอบ อันเนื่องมาจากการวิพากษ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา
ทั้งนี้ ผลการประชุม COP 29 จะลงเอยด้วยบทสรุปแบบใด การประชุมโดยประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกจะขับเคลื่อนไปสู่พลังงานสะอาดได้จริงแบบที่ว่าไว้หรือไม่ SPRiNG จะนำเสนอมาให้ผู้อ่านรับรู้อย่างใกล้ชิด
ที่มา: AFP
ข่าวที่เกี่ยวข้อง