"อาเซอร์ไบจาน" ว่าที่เจ้าภาพการประชุม COP29 ในปี 2024 ที่เมืองบากู ทว่าถูกวิจารณ์แรง ใช้การประชุม COP29 เพื่อฟอกขาวปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศ เป็นจริงดังที่กล่าวหาหรือไม่? ติดตามได้ที่บทความนี้
“ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ อาเซอร์ไบจานจำเป็นต้องน้อมรับคำวิจารณ์”
ว้าวุ่นกันเลยทีนี้! เมื่อมีการเปิดเผยออกมาแล้วว่าประเทศ 'อาเซอร์ไบจาน’ คือว่าที่เจ้าภาพการประชุมด้านสภาพอากาศ หรือ COP29 ในครั้งต่อไป ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองบากู ในปี 2024
กลับกลายเป็นว่า หลายฝ่ายทั้งภาคประชาสังคม องค์กรต่าง ๆ หรือแม้ในระดับรัฐ ก็ต่างออกเสียงคัดค้าน ในการมอบหมายให้อาเซอร์ไบจานรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพงาน COP29 โดยข้อกล่าวหาที่ร้อนแรงและดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือ “รัฐบาลอาเซอร์ไบจานกำลังใช้ COP29 เพื่อฟอกขาวให้ตัวเอง ในเรื่องการกดขี่สิทธิเสรีภาพในการพูดและสิทธิมนุษยชน”
Spring News ชวนไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งสำรวจน้ำเสียงของหลาย ๆ ฝ่ายว่าคิดเห็นอย่างไร และดูว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนในอาเซอร์ไบจานมีแนวโน้มดีขึ้นหรือลดน้อยลงหรือไม่ ติดตามได้ที่บทความนี้
เกิดอะไรขึ้น?
หลังจากที่มีข่าวว่า ประเทศในยุโรปตะวันออกให้การสนับสนุน “อาเซอร์ไบจาน” อย่างเต็มที่เพื่อให้ขึ้นเป็นเจ้าภาพการประชุมสภาพอากาศ หรือ COP29 ภายใต้เงื่อนไขขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดให้ ประเทศใดก็ได้จากยุโรปตะวันออกเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งต่อไป
ในบรรดาแคนดิเดต มีหลายประเทศที่ร่วมลงสมัครชิงเจ้าภาพ COP29 เช่น บัลแกเรีย แต่สุดท้ายก็ประกาศถอนตัวออกไป ทำให้โฟกัสมาอยู่ที่ 2 ประเทศพริกกับเกลืออย่างอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนีย ที่เพิ่งจะเปิดฉากรบกันไปเมื่อปีที่ผ่านมา
ทว่า อาเซอร์ไบจานได้ยื่นข้อเสนอให้กับอาร์เมเนียว่า จะไม่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามแบบที่เคยเจอมาหากยอมหลีกทางให้ตำแหน่งเจ้าภาพ COP29
ตลอดสองสัปดาห์ของการประชุม COP28 ยังไม่ประจักษ์ชัดว่าประเทศใดจะได้เป็นเจ้าภาพ แต่มหาอำนาจแดนหนาวอย่างรัสเซีย ได้ประกาศกร้าวอย่างชัดเจนว่า จะขัดขวางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่ให้การสนับสนุนยูเครน เพื่อมิให้ขึ้นเป็นเจ้าภาพงาน COP29
เมื่อผลออกมาว่าอาเซอร์ไบจานได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการประชุม COP29 รัสเซียก็มิได้แสดงท่าทีคัดค้านอาเซอร์ไบจานแต่อย่างใด
Ruslan Edelgeriev ผู้แทนประธานาธิบดีเกี่ยวกับปัญหาสภาพภูมิอากาศของสหพันธรัฐรัสเซีย กล่าวว่า “เรายินดีอย่างยิ่ง ที่สามารถบรรลุเรื่องเจ้าภาพการประชุม COP29 ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกได้เป็นที่เรียบร้อย”
หลายฝ่ายคลางแคลงใจ
เมื่อข่าวถูกตีแผ่ออกไป น้ำเสียงส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปในประเด็นเดียวกันกับที่สหรัฐอารับเอมิเรตส์โดนคือ อาเซอร์ไบจานเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ แถมเป็นสมาชิกของ OPEC+
นอกจากนี้ เหล่านักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศเกิดอาการไม่พอใจ และออกมาตอบโต้ต่อประเทศอาเซอร์ไบจานอย่างซึ่ง ๆ หน้า และกล่าวว่าในอาเซอร์ไบจานมีตำรวจถูกจับ เพราะมีเอี่ยวกับผลประโยชน์ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล
โดยปกติแล้ว การเลือกประเทศเจ้าภาพในการประชุมด้านสภาพอากาศ จะมีการวางประเทศแคนดิเดตไว้ล่วงหน้าหลายปี เพื่อให้มีเวลาเตรียมพร้อม และวางแผนในระยะยาวได้ ทว่า Aykhan Hajizada โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอาเซอร์ไบจาน กล่าวว่า เมืองบากู มีความพร้อมอย่างยิ่งในการเป็นพื้นที่จัดการประชุมนี้
รัฐบาลอาเซอร์ไบจานใช้ COP29 สร้างความชอบธรรม?
ภาคประชาสังคมก็ได้ออกมาส่งเสียงอีกว่า ประเทศอาเซอร์ไบจานมีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนไม่ค่อยดีนัก โดยอ้างอิงจากดัชนีเสรีภาพ (Freedom Index) ที่ถูกเก็บข้อมูลและจัดอันดับโดยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งอยู่ในสหรัฐ โดยอาเซอร์ไบจานได้ 9/100 คะแนน
หนึ่งเคสที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้โต้เถียงถึงความชอบธรรมของรัฐบาลอาเซอร์ไบจานในการปฏิบัติต่อพลเมืองคือ Ibadoghlu Bayramova ชายคนนี้คือนักสิทธิมนุษยชน และเป็นศาสตราจารย์ที่ London School of Economics ซึ่งถูกจับกุมตอนกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีแนวคิดทางการเมืองที่สุดโต่งเกินไป
ในปี 2013 – 2019 Ibadoghlu เคยดำรงตำแหน่งเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมในองค์กร Extractives Industry Transparency Initiative หรือ EITI ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนการจัดการทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซ และแร่ธาตุ อย่างเปิดเผย
การจับกุมในครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลอาเซอร์ไบจานถูกวิพากษ์วิจารณ์ และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ พร้อมองค์กรต่าง ๆ ในยุโรป ออกมาประณาม และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการจับกุมในครั้งนี้
“เราไม่สามารถปล่อยให้อาเซอร์ไบจานใช้ COP29 เพื่อเป็นเครื่องมือฟอกขาวให้ตัวเองจากการกดขี่สิทธิเสรีภาพในการพูดและสิทธิมนุษยชนได้” Joe Bardwellโฆษกของ Publish What You Pay องค์กรที่สร้าง EITI กล่าว
ปัญหาสิทธิมนุษยชนในอาเซอร์ไบจาน
ข้อมูลจาก Human Rights Watch ระบุว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอาเซอร์ไบจานไม่ดีขึ้น มีพลเมืองกว่า 20 รายซึ่งถูกจับกุมด้วยข้อหาทางการเมือง และยังมีอีก 30 คน ที่กำลังถูกจำคุกโดยมิชอบ อันเนื่องมาจากการวิพากษ์รัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา
อาเซอร์ไบจานมีกฎหมายอยู่หลายตัวที่คอยขัดขวาง NGO มิให้ดำเนินงานได้อย่างมีอิสระ อาทิ การทรมานที่โหดร้ายทารุณในระหว่างถูกควบคุมตัว และการกำจัดเสรีภาพของสื่อมวลชน
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยัดเยียดข้อหายาเสพติดให้กับนักการเมืองที่เคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอาเซอร์ไบจาน หลังจากที่พลเมืองบางส่วนได้รับการปล่อยตัว พวกเขาออกมาเล่าว่า ถูกบังคับและทรมานอย่างโหดร้ายในระหว่างที่ถูกคุมขัง
Rashad Ramazanov บล็อกเกอร์และนักโทษการเมือง ชายคนนี้คือคนที่วิพากย์วิจารณ์รัฐบาลอย่างถึงพริกถึงขิงบนโซเชียลมีเดียของตัวเอง จนถูกจับ และเขากล่าวว่า ตำรวจได้ทุบตี และบีบบังคับให้เขารับสารภาพเรื่องการครอบครองยาเสพติด จนในที่สุดเขาก็ได้รับโทษและถูกจำคุกนานถึง 6 ปี ก่อนจะถูกปล่อยตัวในปี 2562
การประชุมด้านสภาพภูมิอากาศที่นครดูไบจะจบลงในวันที่ 12 ธ.ค. 66 ทว่า ยังมีปัญหาให้ถกกันอย่างเผ็ดร้อนอยู่ทุกวัน รวมถึงเรื่องที่อาเซอร์ไบจานจะเป็นเจ้าภาพการประชุม COP29 ที่จะถูกจัดขึ้นในปี 2024 ที่เมืองบากูด้วย แม้จะได้รับเสียกสนับสนุนครบแล้ว แต่ยังมีหลายภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วย และออกมาวิจารณ์อย่างถึงพริกถึงขิง
“งาน COP29 จะมีความหมายอะไร เมื่อเจ้าภาพคือประเทศอาเซอร์ไบจาน” Zhala Bayramova ลูกสาวของ Ibadoghlu Bayramova กล่าว
แล้วคุณล่ะ คิดว่าปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนกับสภาพอากาศคือเรื่องเดียวกันไหม หรือประเด็นโต้แย้งของหลาย ๆ ภาคส่วนบอกอะไรเราได้บ้าง?
ที่มา: Reuters
เนื้อหาที่น่าสนใจ