svasdssvasds

ปะการังทั่วโลกเกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด เพราะอุณหภูมิโลกสูงขึ้น

ปะการังทั่วโลกเกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด  เพราะอุณหภูมิโลกสูงขึ้น

ความร้อนของมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตโลกร้อนตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการฟอกขาวของปะการังครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้

SHORT CUT

  • พื้นที่แนวปะการังกว่า 77% ทั่วโลก เกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด
  • การฟอกขาวเกิดจากความเครียดของปะการัง เนื่องจากความร้อนของโลก
  • เหตุการณ์นี้ย้ำเตือนว่า แนวปะการังได้เสียหายถึงจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับ ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อมหาสมุทรและมนุษย์

ความร้อนของมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตโลกร้อนตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการฟอกขาวของปะการังครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้

สำนักงานบริหารบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติเปิดเผยว่า มีการฟอกขาวของแนวปะการังครั้งใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 อ้างอิงจากข้อมูลดาวเทียมที่ระบุว่า มีพื้นที่แนวปะการังกว่า 77% ทั่วโลก ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติก ไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจนเกิดการฟอกขาว ซึ่งถือเป็นการฟอกขาวที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังใน 74 ประเทศและดินแดน

ภาวะปะการังฟอกขาวเกิดจากความเครียดของปะการัง เนื่องจากความร้อนของโลกทำให้น้ำในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น โดยปะการังจะขับสาหร่ายสีสันสวยงามที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออกไป หากไม่มีสาหร่ายที่มีประโยชน์เหล่านี้ ปะการังก็จะซีด เสี่ยงต่อการอดอาหารและโรคภัยไข้เจ็บ แม้ว่าปะการังที่ฟอกขาวจะยังไม่ได้ตายในทันที แต่จะกลับมาฟื้นตัวได้ก็ต่อเมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรเย็นลงเท่านั้น

ปะการังทั่วโลกเกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุด  เพราะอุณหภูมิโลกสูงขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า มีปะการังอย่างน้อย 14% ที่ตายไปจากเหตุการณ์ฟอกขาวทั่วโลกสองครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งนับเป็นการสูญเสียที่สูงมาก

เพื่อตอบสนองต่อสถิติการฟอกขาว นักวิทยาศาสตร์ได้เรียกร้องให้มีการประชุมฉุกเฉินพิเศษเกี่ยวกับแนวปะการังในการประชุมสุดยอดสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (COP16) ที่ประเทศโคลอมเบียในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งผู้นำโลกจะร่วมกันหารือถึงกลยุทธ์สุดท้ายเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของปะการัง รวมถึงการปกป้องและการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูความเสียหายด้วย

เหตุการณ์ฟอกขาวครั้งล่าสุดนี้ยังย้ำเตือนว่า แนวปะการังได้เสียหายถึงจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับได้แล้ว ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อมหาสมุทร รวมถึงการประมงของมนุษย์ เนื่องจากแนวปะการังถือเป็นแหล่งสร้างรายได้ประมาณ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ฝนทุกปี

อย่างไรก็ตาม นักพยากรณ์อากาศบางคนคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โลกอาจเข้าสู่รูปแบบภูมิอากาศแบบลานีญา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรเย็นลง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หวังว่าอาจทำให้ปะการังมีโอกาสฟื้นตัวมาได้บ้าง