svasdssvasds

Blue Carbon ตัวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนทางทะเล ความหวังสุดท้ายสู้โลกเดือด!

Blue Carbon ตัวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนทางทะเล ความหวังสุดท้ายสู้โลกเดือด!

ว่ากันว่า "บลูคาร์บอน" (Blue Carbon) คือความหวังสุดท้ายของมนุษยชาติ ในการต่อสู้กับวิกฤตโลกเดือด ด้วยการช่วยดูดซับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้ในอากาศเอาไว้ สปริงชวนเปิดมุมมองผ่าน 2 ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยบูรพา

กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะในระดับชีวิตประจำวัน หรือการปล่อยมลพิษจากระบบอุตสาหกรรม ล้วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สภาพอากาศโลกแปรปรวน

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้คือหนึ่งในวิธีที่หลายประเทศทั่วโลกทำอย่างจริงจัง ด้วยเห็นว่าสามารถดูดซับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนในอากาศได้

แต่ปล่อยให้ต้นไม้บนบกทำหน้าที่อยู่ฝ่ายเดียวคงไม่ทันการ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงชี้ให้เห็นว่า ระบบนิเวศทางทะเลก็สามารถทำหน้าที่นั้นได้เช่นเดียวกัน และอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าเสียด้วย

ด้วยเหตุนี้ แนวคิดเรื่อง “Blue Carbon” ระบบนิเวศทางทะเล ตัวช่วยดูดซับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนในอากาศจึงเป็นเรื่องที่เหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ รวมถึงองค์กรต่าง ๆ กำลังให้ความสำคัญ แต่คำถามคือเรารู้จักคาร์บอนสีน้ำเงินกันมากน้อยแค่ไหน?

บลูคาร์บอน ความหวังสุดท้ายของสิ่งแวดล้อมไทย Credit Blue Carbon Society

“ผมเชื่อว่าปีหน้าอุณหภูมิน้ำก็คงไม่ดีไปกว่านี้ อาจจะเท่าเดิม หรือเพิ่มสูงขึ้น ถ้ามันยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วเราไม่หาทางป้องกัน หรือไม่มีนโยบายต่าง ๆ มาบริหารจัดการ มันก็เหมือนกับเราปล่อยให้ทรัพยากรทางทะเลเสื่อมสภาพไปเรื่อย ๆ” ดร. บัลลังก์ เนื่องแสง ผอ. สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าว

คำกล่าวข้างต้นคือเสียงเพรียกเตือนจากผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศทางทะเล ได้แก่ ดร. บัลลังก์ เนื่องแสง ผอ. สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ทีมข่าวสปริงนิวส์มีโอกาสได้ฟังเสวนาถึงบทบาทของ “Blue Carbon” ในประเทศไทย

ในงานเสวนาครั้งนี้ ยังได้ ดร. สราวุธ ศิริวงศ์ คณบดีเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี มาร่วมพูดคุยถึงเรื่องปะการังไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในบลูคาร์บอน

ดร. บัลลังก์ เนื่องแสง ผอ. สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

ดร. สราวุธ ศิริวงศ์  คณบดีเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี

ทำความรู้จัก “Blue Carbon” ระบบนิเวศทางทะเล ตัวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอน

เราอาจเคยได้ยินการดักจับคาร์บอนของต้นไม้ สิ่งนั้นเรียกว่า “กรีนคาร์บอน” แต่ในบริบทระบบนิเวศทางทะเลจะถูกเรียกขานว่า “บลูคาร์บอน” คอนเซปต์ก็คือการที่ป่าชายเลน ปะการัง หรือแหล่งหญ้าทะเลช่วยดูดซับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนในอากาศเอาไว้ เพื่อมิให้ไปแปรสภาพเป็นก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์ภาวะโลกเดือด

“Blue Carbon คือแนวทางที่สามารถลดปัญหาโลกเดือดได้ เพราะว่าตอนนี้ถ้าเราไม่มีแหล่งป่าชายเลน ไม่มีแหล่งหญ้าทะเล หรือแม้กระทั่งสาหร่ายในปะการัง ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน อันนี้เป็นปัญหาแน่” ดร. บัลลังก์ เนื่องแสง กล่าว

“ภาพรวมที่ต้องเตรียมพร้อมไว้ มีอยู่ 2 ส่วน เรื่องแรกคือไปดูว่าภาวะโลกเดือดส่งผลเสียต่อทรัพยากรอะไรบ้าง เรื่องที่สองคือเราจะทำยังไงให้ป่าชายเลน หญ้าทะเล หรือแนวปะการังฟื้นตัว และอยู่อย่างยั่งยืนได้ ทำยังไงให้มีการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด”

บทความนี้สปริงนิวส์จะพาไปเจาะลึกว่าทำไม “ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล และปะการัง” หรือบลูคาร์บอน ทำไมถึงสำคัญต่อหนทางการมุ่งสู่ Net Zero ของไทย มีความท้าทายอย่างไร และการฟื้นฟูอนุรักษ์สามารถทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

ป่าชายเลน ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรและทะเลชายฝั่ง ระบุว่าบริเวณภาคตะวันออกของไทยมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์อยู่หลายแห่ง อาทิ ระยอง จันทบุรี ตราด แต่ในปี 2552 มีการแผ้วถางป่าชายเลนแล้วเปลี่ยนไปทำอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้ง

หลังจากนั้น จึงมีความพยายามฟื้นฟูป่าชายเลน กระทั่งในปี 2563 บริเวณภาคตะวันออกของไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นราว 2 – 3 แสนไร่

ป่าชายเลน แหล่งบลูคาร์บอน เครดิตภาพ สวทช.

3 เรื่องสำคัญ ฟื้นฟูป่าชายเลน

ดร. บัลลังก์ เนื่องแสง เปิดเผยว่า หากเราจะทำการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลน มี 3 แนวทางที่ต้องยึดไว้ให้มั่น เรื่องแรกคือ “พื้นที่นั้นต้องเหมาะสมสำหรับการปลูกป่าชายเลน” เรื่องที่สองคือ “อนุรักษ์ป่าชายเลนที่มีอยู่แล้ว และฟื้นฟูแหล่งเสื่อมโทรม” และเรื่องสุดท้ายคือ “การบริหารจัดการพื้นที่ป่าในชุมชน”

หากปฏิบัติตาม 3 แนวทางข้างต้น เราจะได้ป่าชายเลยที่มีประสิทธิภาพ ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ในที่สุดป่าชายเลยก็จะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น

ดร. บัลลังก์ เนื่องแสง กล่าวว่า “แม้ป่าชายเลนอาจได้รับผลกระทบไม่เยอะมาก แต่จริง ๆ แล้ว ปริมาณตัวอ่อนของสัตว์ในแหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มลดน้อยลง ชาวประมงจับปลาตามแนวป่าชายเลนลดน้อยตามไปด้วย”

ปะการังไทย: แหล่งดูดซับคาร์บอนชั้นเลิศ แต่อาจไม่รอดเพราะโลกร้อน

เมื่อเอ่ยถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเชื่อว่า “ปะการัง” น่าจะกินพื้นที่บนหน้าสื่อมากที่สุด เพราะในปี 2567 โลกประกาศร่วมกันว่าขณะนี้เรากำลังเผชิญกับวิกฤตปะการังฟอกขาว ครั้งที่ 4

ไทยไม่ยอมตกเทรนด์ ในปีนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยน้ำทะเลไทยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2 องศา ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนิยามว่าปะการังฟอกขาวของปีนี้รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 และ 2559

Blue Carbon ตัวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนทางทะเล ความหวังสุดท้ายสู้โลกเดือด!

ดร. สราวุธ ศิริวงศ์ คณบดีเทคโนโลยีทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี อธิบายว่า ในปะการังจะมีสาหร่ายอาศัยอยู่ พวกมันทำหน้าที่ในการสังเคราะห์แสง แถมยังช่วยดูดซับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนในอากาศเอาไว้

“33% ของแนวปะการังในประเทศไทยฟอกขาว แต่ว่าตอนนี้อุณหภูมิน้ำลดลงแล้ว เนื่องจากมีฝนตกติดต่อกันหลายวัน อากาศดีขึ้น อุณหภูมิน้ำกลับสู่ภาวะปกติ ดังนั้น พื้นที่ปะการังฟอกขาวที่ไม่หนักมากกำลังฟื้นตัว จากสีขาวค่อย ๆ กลายเป็นสีซีด แล้วกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อน อย่างเช่น ที่พัทยา เกาะสีชัง ที่เริ่มฟื้นแล้ว”

เราจะช่วยปะการังฟอกขาวได้อย่างไร?

ดร. สราวุธ ศิริวงศ์  เผยว่าในระดับปัจเจกเราต้อง “ลด ละ เลิก” กล่าวคืออย่าไปรบกวน อย่าไปเที่ยว อย่าปล่อยน้ำเสียลงทะเล แล้วปล่อยให้ปะการังฟื้นตัวเองในธรรมชาติคือวิธีที่ดีที่สุด

แต่ยังไงน้ำทะเลก็ยังจะร้อนอยู่ และปีหน้าก็คาดว่าจะร้อนกว่านี้ แล้วเราจะฉกฉวยประโยชน์ภายใต้เงื่อนไขนี้ได้อย่างไร ดร. สราวุธ ศิริวงศ์ ชวนตั้งข้อสังเกตว่าช่วงที่เกิดปะการังฟอกขาวมีสายพันธุ์ใดบ้างที่ไม่ฟอก สายพันธุ์ใดบ้างที่ฟอกขาวไปแล้ว แต่ฟื้นฟูกลับมาได้

“เป็นไปได้ไหมว่าปะการังเหล่านี้มันคือความหวัง เป็นไปได้ไหมถ้าเราขยายพันธุ์ปะการังกลุ่มนี้ กลุ่มที่มีความพิเศษ แล้วให้มันเป็นสารตั้งต้น เป็นต้นพันธุ์แห่งอนาคต”

หญ้าทะเล: บทบาทที่มากกว่าแค่อาหารพะยูน

ข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature - IUCN) ระบุว่าแหล่งหญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศที่สามารถช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกราว 7-10 เท่า

สำหรับสถานการณ์หญ้าทะเลของภาคตะวันออก ดร. บัลลังก์ เนื่องแสง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ หาดเจ้าหลาวเคยมีหญ้าทะเลอยู่เยอะ แต่ล่าสุดพบว่าหญ้าทะเลส่วนใหญ่เริ่มมีใบเหลือง และเสียหาย ดังนั้น สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลจึงคิดว่าเราควรมีพันธุ์หญ้าทะเลเก็บเอาไว้ในโรงเพาะ

Blue Carbon ตัวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนทางทะเล ความหวังสุดท้ายสู้โลกเดือด!

โรงเพาะปะการัง หญ้าทะเล และสัตว์ทะเลสวยงาม แห่งมหาวิทยาลัยบูรพา

เมื่อจบพาร์ทการพูดคุย อาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้เชิญชวนเข้าทีมข่าวสปริงเข้าไปดูเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลสวยงาม หญ้าทะเล และปะการังน้ำตื้นหลากหลายชนิด ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่มาพร้อมกับคอนเซปต์ “Eco Friendly – Zero Waste”

Blue Carbon ตัวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนทางทะเล ความหวังสุดท้ายสู้โลกเดือด!

Blue Carbon ตัวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนทางทะเล ความหวังสุดท้ายสู้โลกเดือด!

โรงเพาะแห่งนี้มีปะการังอยู่ราว 40 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นปะการังน้ำตื้น และมีบางส่วนที่ถูกตัดแต่งเพื่อนำไปผสมพันธุ์ ดร. บัลลังก์ อธิบายถึงจุดประสงค์ของโรงเพาะแห่งนี้ว่า “โรงเพาะฟักแห่งนี้เก็บปะการังเอาไว้หลายพันธุ์ หากในอนาคตปะการังฟอกขาวหนักหน่วงในระดับน่าเป็นห่วง เราก็สามารถนำปะการังเหล่านี้ไปฟื้นฟูในแหล่งต่าง ๆ ได้”

Blue Carbon ตัวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนทางทะเล ความหวังสุดท้ายสู้โลกเดือด!

Blue Carbon ตัวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนทางทะเล ความหวังสุดท้ายสู้โลกเดือด!

อีกหนึ่งกิมมิคที่น่าสนใจคือโรงเพาะแห่งนี้ใช้ระบบน้ำหมุนเวียนทั้งหมด เพาะเพาะเลี้ยงปะการัง และสัตว์ทะเลสวยงาม เช่น ปลาการ์ตูน ซึ่ง ดร. บัลลังก์ บอกว่าใช้สาหร่ายเข้ามาช่วยบำบัดน้ำ ประโยชน์ที่ได้มาเพิ่มก็คือมันสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนได้

Blue Carbon ตัวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนทางทะเล ความหวังสุดท้ายสู้โลกเดือด!

ไฮไลท์สุดท้ายของโรงเพาะแห่งนี้คือ “ป่าชายเลน” ความพิเศษคือทางมหาวิทยาลัยบูรพาได้นำป่าชายเลนขนาดย่อมมาปลูกไว้ที่โรงเพาะแห่งนี้เป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว ตอกย้ำว่าระบบน้ำหมุนเวียนก็สามารถหล่อเลี้ยงป่าชายเลนให้ตั้งตระหง่านได้เช่นกัน

Blue Carbon ตัวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนทางทะเล ความหวังสุดท้ายสู้โลกเดือด!

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related