หน่วยงานของสหภาพยุโรปเผย มหาสมุทรมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
โคเปอร์นิคัส (Copernicus) หน่วยงานด้วนการสังเกตการณ์โลกของสหภาพยุโรป เปิดเผยรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ 30 กันยายน ระบุว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรได้เพิ่มสูงขึ้นในอัตราเกือบ 2 เท่า นับตั้งแต่ปี 2548 เนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
ผลการวิจัยครั้งนี้คือสิ่งที่เน้นย้ำให้เห็นถึงสิ่งที่ตามมาจากวิกฤติโลกร้อน ซึ่งกระทบต่อมหาสมุทรโดยตรง เพราะปกติแล้วมหาสมุทรที่ปกคลุมพื้นผิวโลก 70 เปอร์เซ็นต์ จะทำหน้าที่เป็นปัจจัยหลักในการควบคุมสภาพภูมิอากาศ เมื่อมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นก็จะทำให้เกิดพายุ เฮอริเคน และสภาพอากาศเลวร้ายอื่นๆ ที่อาจรุนแรงถึงระดับภัยพิบัติ
รายงานยังระบุด้วยว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรที่ร้อนจนทำลายสถิติ ยังส่งผลให้เกิดคลื่นความร้อนในทะเลซึ่งลามลงไปจนถึงส่วนลึกในมหาสมุทร ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำแข็งในทะเลเพิ่มขึ้น ทั้งยังส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ทะเลและการประมงด้วย
คารินา ฟอน ชุคมันน์ นักสมุทรศาสตร์จากโคเปอร์นิคัส กล่าวว่า การอุ่นขึ้นของมหาสมุทร สามารถส่งผลกระทบต่อทุกด้านของโลกใต้ทะเล ตั้งแต่ความหลากหลายทางชีวภาพ เคมี กระบวนการทางสมุทรศาสตร์พื้นฐาน กระแสน้ำ รวมไปถึงสภาพอากาศของโลก
โคเปอร์นิคัสยังตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้ส่งผลให้ความเป็นกรดของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ซึ่งหากมหาสมุทรมีความเป็นกรดสูงกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ความเป็นกรดดังกล่าวจะกัดกร่อนแร่ธาตุที่สิ่งมีชีวิตในทะเลนำมาใช้สร้างโครงกระดูกและเปลือกหอย เช่น ปะการัง หอยแมลงภู่ และหอยนางรม ซึ่งนั่นหมายถึงวิกฤติครั้งใหญ่ของห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศน์
พวกเขามองว่าสถานการณ์ดังกล่าวถือเป็น “ขีดจำกัดสำคัญระดับโลก” ที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้นี้