svasdssvasds

โลกเดือด ป่าเปลี่ยน น้ำลดโคลนผุด ทำไมน้ำท่วม 67 มีโคลนเยอะขนาดนี้?

โลกเดือด ป่าเปลี่ยน น้ำลดโคลนผุด ทำไมน้ำท่วม 67 มีโคลนเยอะขนาดนี้?

สาเหตุน้ำท่วมภาคเหนือ 2567 นอกจากน้ำที่เยอะแล้ว ยังมีโคลนที่เยอะมากขึ้น จนแทบปิดบ้านของผู้คนจนมิด ออกไปไหนไม่ได้ สาเหตุที่โคลนเยอะขนาดนี้ เกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไร?

SHORT CUT

  • น้ำท่วมภาคเหนือ 2567 หลังน้ำท่วมพบโคลนจำนวนมาก
  • โคลนเยอะเพราะป่าเสื่อมโทรม พื้นที่ต้นน้ำเปลี่ยนสภาพ พื้นที่ท้ายน้ำลดน้อยลง
  • ภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศแปรปรวนขึ้น ยากจะคาดเดา
  • นอกจากนี้ฝุ่นแล้ว ยังมีน้ำท่วมที่เป็นมลพิษข้ามพรมแดน แก้ได้ด้วยการจัดการน้ำใหม่ให้มีประสิทธิภาพ

สาเหตุน้ำท่วมภาคเหนือ 2567 นอกจากน้ำที่เยอะแล้ว ยังมีโคลนที่เยอะมากขึ้น จนแทบปิดบ้านของผู้คนจนมิด ออกไปไหนไม่ได้ สาเหตุที่โคลนเยอะขนาดนี้ เกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไร?

สาเหตุน้ำท่วมภาคเหนือ 2567 หลายท่านน่าจะทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ว่าทำไมปีนี้ภาคเหนือถึงโดนน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากแบบไม่ทันตั้งตัวรุนแรงขนาดนี้ ปัจจัยแรกและปัจจัยหลักที่สปริงนิวส์ในคอลัมน์ Keep The World เห็นสมควรที่จะนำเสนอคือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกเดือด ที่หวังว่าภัยธรรมชาติในครั้งนี้ จะเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป ไม่ใช่ภัยธรรมชาติธรรมดาที่มักจะเกิดขึ้นตามฤดูกาล

จากบทสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายการบริหารจัดการน้ำและนักวิจัยอาวุโส (Stockholm Environment Institute) ซึ่งเป็นผู้ติดตามระบบนิเวศในพื้นที่แม่น้ำแม่สายมานานหลายปี อธบายให้ฟังว่า

ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายการบริหารจัดการน้ำและนักวิจัยอาวุโส (Stockholm Environment Institute)

เหตุการณ์แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อวัฏจักรน้ำให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ความแปรปรวนความผันผวนของสภาพภูมิอากาศหรือฝน เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดามากขึ้น

ทำไมน้ำลด โคลนผุด มีโคลนมากับน้ำท่วมมากกว่าปกติ?

น้ำท่วมที่แม่สาย นอกจากปริมาณฝนที่ตกหนักแล้ว ตอนนี้ที่เราเห็นไม่ใช่ว่าน้ำลดตอฝุด แต่เป็นน้ำลดโคลนผุด สาเหตุที่หลังน้ำลดเราเห็นโคลนจำนวนมากปิดทางเข้าออกบ้านหนาแน่นขนาดนี้ เป็นเพราะสภาพดินที่มาจากต้นน้ำ นั่นหมายความสภาพป่าที่อยู่บริเวณต้นน้ำถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมลง

น้ำท่วมเชียงราย 67 Cr.มูลนิธิกระจกเงา

ฝนที่ไหลลงมา ไม่มีป่าที่ช่วยชะลอการไหลของน้ำ หน้าดินต่าง ๆ ถูกเปิดออก เปลี่ยนสภาพป่าให้กลายเป็นสภาพการทำการเกษตร อีกเรื่องที่ควรเน้นคือเราสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำ บริเวณท้ายน้ำด้วย ซึ่งปกติพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นพื้นที่ที่ช่วยกักเก็บชะลอน้ำฝน

แต่ปัจจุบัน พื้นที่ท้ายน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่ว่าเหล่านี้ถูกรุกราน ถูกปรับให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ง่าย ๆ เลยคือ เวลาน้ำหลากมา ก็จะมีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่อยู่บริเวณต้นน้ำ ทำให้น้ำเมื่อหลากมาก็จะพัดพาเอาท่อนไม้ เอาขยะ ลงมาด้วยตามที่เห็นในข่าวไป เรามีพื้นที่เก็บน้ำตามธรรมชาติลดลง ตรงนี้ก็เลยเป็นภัยคุกคามที่ทำให้ความรุนแรงต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

ถ้าเกิดว่าต้นน้ำมาจากประเทศเพื่อนบ้าน แก้ยังไงดี?

นอกจากฝุ่นข้ามพรมแดนแล้ว ปี 2567 ยังเห็นได้ชัดว่ายังมีน้ำท่วมข้ามพรมแดนได้ด้วย ถ้าต้นน้ำคือประเทศเพื่อนบ้านล่ะ เราจะแก้ไขยังไงดี?

คุณธนพลขอยกตัวอย่างให้ฟังว่า ย้อนกลับไปในช่วงเดือนสิงหาคม ที่เพิ่งมีเหตุการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดน่าน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นด้วยปัจจัยคล้ายกัน คือมีฝนตกชุกในพื้นที่ต้นน้ำบริเวณหุบเขา แล้วก็ไหลบ่าลงมายังจังหวัดน่าน สภาพก็คล้ายกันมีโคลน มีตะกอนดิน ท่อนไม้ ท่อนซุงไหลลงมา

น้ำท่วมเชียงราย 67 Cr.มูลนิธิกระจกเงา

ที่นี้ การแก้ปัญหา เราจำเป็นต้องเข้าไปจัดการดูแลร่วมกันในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของป่าไม้ ในเรื่องของพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือในเรื่องของการขยายตัวของเมือง

“อีกอย่างหนึ่งคือ ธรรมชาติพวกเนี้ย ไม่มีเขตแดนหรอกครับ มันเป็นธรรมชาติของมัน มีแต่มนุษย์ไปขีดเส้นให้เขา” ดร.ธนพล กล่าว

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องยกระดับในการบริหารจัดการน้ำหรือพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ท้ายน้ำ ที่เราใช้ร่วมกันระหว่างประเทศ ถามว่ายากไหม ก็คงมีความยากแน่นอน ดังนั้นก็ต้องมีกลไกต่าง ๆ ที่จะต้องเข้าไปเจรจาทำความเข้าใจ และสร้างความร่วมมือร่วมกันระหว่างประเทศ

related