SHORT CUT
"ดร.เสรี" เตือนอันตราย 'พายุฤดูร้อน' ในภาวะโลกเดือด ชี้จะเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ แต่รุนแรงมากขึ้นทั้งลมฝนลูกเห็บ โลกจะยังคงมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด กทม. จะมีจำนวนวันที่ร้อนสุดเพิ่มขึ้นจาก 17 วันต่อปี เป็นประมาณ 80 วันต่อปี
พายุฤดูร้อน (Thunderstorms) เป็นพายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดในช่วงการเปลี่ยนฤดูจากฤดูร้อนไปสู่ฤดูฝน ช่วงประมาณเดือนเมษายน พายุฤดูร้อนนี้ เป็นพายุประจำถิ่น ที่มักเกิดขึ้นในบริเวณประเทศไทยตอนบน เมื่ออากาศในช่วงเปลี่ยนฤดู มีความชื้นสูงและร้อน ในขณะที่ความกดอากาศสูงก็ยังคงแผ่ลงมาเป็นครั้งคราว นำอากาศที่แห้งและเย็นกว่ามาผสมผสาน ทำให้เกิดมวลอากาศ ที่อเสถียรภาพ มีการแลกเปลี่ยนมวลกันในแนวดิ่ง เกิดการยกตัวของมวลอากาศอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดเมฆฝนฟ้าคะนองขนาดใหญ่กว่าปกติ และมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้น ในบางครั้งทำให้เกิดลูกเห็บตก ทำความเสียหายให้แก่บ้านเรือนและ พืชผลทางการเกษตรเสียหายได้
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า #พายุฤดูร้อนภัยอันตรายมากในภาวะโลกเดือด มาไขคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ IPCC ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC
รายงานฉบับที่ 6 จากการประเมินโดยคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC-AR6) พบว่าในภาวะโลกเดือด จะก่อให้เกิดพายุฤดูร้อนถี่ขึ้น และความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่แถบโซนร้อน รวมประเทศไทย เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของพลังงานสะสมของการยกตัวของอากาศร้อน (CAPE : Convective Available Potential Energy) ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆรายชั่วโมง จะมีทั้งลม ฝน ลูกเห็บ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง หรือฟ้าผ่าตามมา
โดยจากนี้ต่อไปก่อนเข้าฤดูฝน จะต้องเฝ้าระวังพายุฤดูร้อน เพราะมีอันตรายถึงชีวิต ต้องหาที่หลบกำบังในที่ร่มที่แข็งแรง ผมได้แนบตัวอย่างการคาดการดรรชนี CAPE ของวันอาทิตย์ที่ 5 พค. เวลา 07.00 น. บริเวณพื้นที่สีแดงจะมีการยกตัวของเมฆมาก (CAPE > 2,500 J/Kg) บ่งชี้สภาวะแวดล้อมที่มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อน
โลกจะยังคงมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด โดยผมได้ทำการย่อส่วน (Downscaling) มายังประเทศไทยพบว่าหลายพื้นที่ในเฉดสีส้ม จะมีจำนวนวันที่มีอุณหภูมิ > 35oC ประกอบกับดรรชนีความร้อน (Heat index) จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ท่านสามารถดูได้ว่าอนาคตพื้นที่ใดมีโอกาสที่จะเผชิญภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากที่สุด (คลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม) และเราควรจะไปอยู่จังหวัดใด? ตัวอย่างที่ชัเเจน พื้นที่ กทม. จะมีจำนวนวันที่ร้อนสุดเพิ่มขึ้นจาก 17 วันต่อปี เป็นประมาณ 80 วันต่อปี กล่าวคือตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม จึงไม่แปลกใจว่าคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นหลบร้อนกันมากขึ้นในช่วงนี้ ดังนั้น ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะรัฐบาล ต้องกำหนด Road map ที่เป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับมาตรการ Adaptation ไม่เช่นนั้น ลูกหลานไทยจะอยู่ประเทศไทยอย่างไม่มีความสุข และที่สำคัญเป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหาร
ที่มา : รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง