SHORT CUT
เมื่ออากาศร้อนจัดกำลังขับไสไล่ส่ง "เด็กยากจน" ออกจากระบบการศึกษาไปเรื่อย ๆ กรณีศึกษาจากฟิลิปปินส์ ที่เพิ่งสั่งระงับชั้นเรียนแล้ว ไม่ขอเสี่ยงอากาศร้อนทะลุ 50 องศา ขณะเดียวกัน เด็กยากจนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
อากาศที่ร้อนจัดในฟิลิปปินส์เวลานี้ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร แหล่งน้ำ และไฟฟ้า รวมถึงส่งผลกระทบในภาพรวมต่อธุรกิจต่างๆ
แต่ในขณะเดียวกัน มันยังส่งผลกระทบไปถึงระบบทางการศึกษาของฟิลิปปินส์ ซึ่งรัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะยกระดับการศึกษาของประชากรในประเทศให้เทียบเท่ากับเพื่อนบ้าน
เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดทำให้สถานศึกษาต้องยกเลิกการเรียนการสอนในชั้นเรียน หลายฝ่ายหวั่นว่าเด็กอาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกครั้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงแรกของการระบาดของโควิด 19
รายงานระบุว่า อุณหภูมิในหลายภูมิภาคของฟิลิปปินส์แตะ 50 องศาเซลเซียส เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้อากาศร้อนจัดในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
เมื่อไปดูระบบการศึกษาของฟิลิปปินส์จะพบว่า คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน อยู่ในกลุ่มต่ำสุดของโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากหลายปีที่ผ่านมาเกิดการระบาดของโควิด 19 ซึ่งนั้นทำให้เกิดปัญหาเรื่องการศึกษาออนไลน์
เคิร์ต นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ปีนี้ มีอายุ 23 ปีแล้ว เนื่องจากต้องหยุดเรียนไปในช่วงการระบาดของโควิด 19 เล่าว่า อากาศร้อนมาก ร้อนจนเผาไหม้ผิว นี่ไม่ใช่แค่ร้อนธรรมดา แต่ร้อนแบบเลวร้ายมาก
ทั้งนี้ สถิติของกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า สถานศึกษาในฟิลิปปินส์จำเป็นต้องระงับการเรียนการสอนในชั้นเรียนเพราะอากาศร้อนจัด ซึ่งมีเด็กนักเรียนกว่า 3.6 ล้านคนได้รับผลกระทบ
Xerxes Castro ที่ปรึกษาของหน่วยงาน Save the Children Philippines เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะมีชั้นเรียนถูกระงับการเรียนการสอนมากกว่านี้
เนื่องจากคลื่นความร้อน และเรากำลังเห็นอุณหภูมิที่มีค่าเฉลี่ยกว่า 52 องศาเซลเซียส ดังนั้นคุณสามารถจินตนาการออกเลยว่านักเรียนจะเครียดขนาดไหน
อากาศที่ร้อนแบบรุนแรงนี้ กำลังแผ่ปกคลุมทั่วทั้งเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นผลมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
เด็กๆยังมีปัญหาอาจจะอ่อนแอล้มป่วยด้วยโรคที่เกิดจากความร้อนได้ เช่น วิงเวียนศีรษะ อาเจียน และเป็นลม หากสัมผัสกับอากาศร้อนนานเกินไป
บรรดานักเรียนและคุณครูต่างแสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับความยากลำบากในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ยากจน เพราะบ้านเรือนนักเรียนไม่ได้มีอะไรที่เอื้อต่อการเรียนเลย และอาจจะไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ด้วยซ้ำ
ที่มา: Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง