svasdssvasds

จริงหรือที่ว่า หากป้ายรถเมล์ไม่มีร่มเงาไม้ให้หลบ คนรอจะยิ่งเดือด - หัวร้อน

จริงหรือที่ว่า หากป้ายรถเมล์ไม่มีร่มเงาไม้ให้หลบ คนรอจะยิ่งเดือด - หัวร้อน

สปริงพาไปสำรวจแง่มุมของอากาศร้อนกับป้ายรถเมล์ ที่ว่าด้วยเรื่อง อารมณ์ของคนรอ ที่อาจไม่ได้รู้สึกว่ารอนานขนาดนั้น หากป้ายรถเมล์มีร่มเงาจากต้นไม้ จากหัวร้อนที่รถมาช้า ก็อาจจะใจเย็นลงมาบ้าง

SHORT CUT

  • มหาวิทยาลัยมินนิโซตา เผยว่า หากไม่มีต้นไม้ที่ป้ายรถเมล์ บวกกับอากาศร้อน ๆ คนรอจะรู้สึกว่ารอนานกว่าเดิม 
  • เมื่ออากาศร้อนขึ้น จะทำให้เรารู้สึกไม่สบายตัว เหงื่อไหล อาการเหล่านี้เป็นตัวเร่งชั้นดีที่ทำให้มนุษย์สูญเสียความสามารถในการควบคุมอารมณ์
  • หากมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 30% ของเมือง นอกจากจะช่วยดูดซับควันพิษจากการจราจร และช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศแล้ว ต้นไม้ใบเขียวเหล่านี้สามารถลดอุณหภูมิในเมืองได้ 0.4 – 5.9 องศาเลยทีเดียว

สปริงพาไปสำรวจแง่มุมของอากาศร้อนกับป้ายรถเมล์ ที่ว่าด้วยเรื่อง อารมณ์ของคนรอ ที่อาจไม่ได้รู้สึกว่ารอนานขนาดนั้น หากป้ายรถเมล์มีร่มเงาจากต้นไม้ จากหัวร้อนที่รถมาช้า ก็อาจจะใจเย็นลงมาบ้าง

เคยสังเกตตัวเองกันไหม ยามที่ต้องยืนรอรถเมล์นาน ๆ ท่ามกลางอากาศเมืองไทยที่ร้อนอย่างกับไปโกรธใครมา ชั่วโมงที่เหงื่อไหลเต็มหลัง เครื่องสำอางเป็นคราบ หน้าหยา เหนอะหนะไปหมด จนเราหุนหันพลันแล่น และพร้อมจะกลายร่างเป็นยักษ์เสียเดี๋ยวนั้น

แต่รู้หรือไม่ว่า หากป้ายรถเมล์มีร่มเงาไม้ที่คอยบังแสงแดดให้ อารมณ์ของเราจะรู้สึกดีขึ้น แม้จะรอรถเมล์นาน เราก็จะไม่รู้สึกว่ารอนานขนาดนั้น สปริงชวนติดตามบทความชิ้นนี้ ที่ว่าด้วยเรื่อง “อารมณ์ รถเมล์ ต้นไม้ และอากาศร้อน”   

รอ (รถมา) นาน ๆ ก็อาจจะบั่นทอนหัวใจ

มหาวิทยาลัยมินนิโซตาในสหรัฐได้ทำการเก็บฟุตเทจคนที่ป้ายรถเมล์กว่า 822 คน โดยมีเงื่อนไขว่าป้ายรถเมล์แต่ละแห่งต้องไม่มีร่มเงาจากต้นไม้ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เช่น ระยะเวลาการรอ พฤติกรรม รวมถึงระยะเวลาจริงของรถเมล์แต่ละสาย

ผลการศึกษาพบว่า ผู้คนที่รอรถประจำทาง 2.5 นาที จะรู้สึกเหมือนยืนรอมาแล้วเกือบ 5.6 นาที หรือในกลุ่มคนที่รอ 10 นาที จะรู้สึกเหมือนว่ารอรถมาแล้วเกือบ 15 นาที

อากาศร้อนมีผลต่ออารมณ์คนรอรถเมล์ Credit ภาพ wikimedia

อย่างไรก็ดี การศึกษาจาก Houston Public Media ก็ระบุในประเด็นเดียวกันนี้ว่า ปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากไม่มีร่มเงาจากต้นไม้ให้หลบ เสียงจากรถที่ผ่านไปมา (ที่ไม่ใช่รถที่เรารอ) มันชวนให้อารมณ์คนที่รอรถฉุนเฉียวเข้าไปใหญ่ แถมการเห็นหรือได้กลิ่นควันรถบ่อยเข้าก็มีส่วนทำให้อารมณ์เสียเช่นกัน

งั้นก็ไม่ต้องสร้างป้ายรถเมล์แล้วสิ ปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ให้ร่มเงาไปเลยดีกว่า ก็คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะป้ายรถเมล์ก็มีคุณประโยชน์ในตัวเองอยู่เช่นกัน ข้อมูลจากเว็บไซต์ Chadchart ระบุ ฟังก์ชั่นของป้ายรถเมล์ไว้ดังนี้

  • รอรถประจำทาง
  • มีข้อมูลระบุสายรถเมล์ที่ผ่านป้าย
  • มีข้อมูลจุดเชื่อมต่อ
  • มีข้อมูลรถคันสุดท้าย
  • ให้แสงสว่างแก่บริเวณนั้น

แต่คงต้องยอมรับกันตามตรงว่าไม่ใช่ทุกป้ายที่จะมีฟังก์ชั่นครบถ้วนเหมือนที่ว่าข้างต้น บางป้ายถูกสร้างขึ้นมานานนมแล้ว ถูกกาลเวลาเล่นงาน ตัวเลขสายเลือนพร่า หลายอย่างเกิดการชำรุดทรุดโทรม และให้เซนส์ของความเปลี่ยว

ป้ายรถเมล์ยุคสมัยใหม่ ควรมีสิ่งใดบ้างเพื่อตอบโจทย์คน?

อากาศร้อนทำให้คนหงุดหงิดได้จริงไหม?

ไทยในฐานะประเทศที่มีภูมิศาสตร์อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แน่นอนว่าเราอยู่กับอากาศร้อนกันจนชิน (จริง ๆ ไม่) แล้วมันจริงหรือไม่ที่บอกว่า หากอากาศร้อนมาก ๆ อารมณ์หรือพฤติกรรมของเราจะหุนหันพลันแล่น

เว็บไซต์ SELF อธิบายไว้ว่า เมื่ออากาศร้อนขึ้น จะทำให้เรารู้สึกไม่สบายตัว เหงื่อไหล อาการเหล่านี้เป็นตัวเร่งชั้นดีที่ทำให้มนุษย์สูญเสียความสามารถในการควบคุมอารมณ์ พูดง่าย ๆ คือ ยิ่งอากาศร้อนมากเท่าไร มีสิทธิสูงมากที่เราจะปรี๊ดแตกได้ทุกเมื่อ หากมีสิ่งใดมาขัดใจ

อากาศยิ่งร้อน คนยิ่งโมโหง่ายขึ้น

แต่ร้ายแรงไปกว่านั้นคือ ความสัมพันธ์ของอุณหภูมิ (สูง) กับสุขภาพจิตอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้เลยทีเดียว งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Environment International พบว่า ทุก ๆ 1.8 องศาฟาเรนไฮต์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น 2.2%

การปลูกต้นไม้มีประโยชน์ต่อคนและเมืองยังไง?

เว็บไซต์ European Commission เปิดเผยว่า หากมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 30% ของเมือง นอกจากจะช่วยดูดซับควันพิษจากการจราจร และช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศแล้ว ต้นไม้ใบเขียวเหล่านี้สามารถลดอุณหภูมิในเมืองได้ 0.4 – 5.9 องศาเลยทีเดียว

ถนนวิทยุ ใจกลางกรุงเทพมหานคร

ล่าสุด ออสเตรเลียหนึ่งในประเทศที่ถูกคลื่นความร้อนเล่นงานมากที่สุดก็เพิ่งประกาศยกระดับการปลูกต้นไม้ในเมืองเป็น 40% ภายในปี 2593 เพื่อต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้สามารถรับมือกับอากาศร้อน หรือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้

อย่างไรก็ดี ผู้อ่านน่าจะเห็นภาพมากขึ้นแล้วว่าต้นไม้นั้นให้ประโยชน์แก่เราอย่างไรบ้าง การปลูกต้นไม้ติดเมืองเอาไว้ย่อมเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน แต่ทั้งนี้ ต้องพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ด้วย เช่น ทำเลที่ตั้ง พรรณไม้ ฟุตบาท (สามารถเปลี่ยนไปใช้วัสดุแบบอื่นได้หรือไม่)

สุดท้ายนี้ หลังจากอ่านบทความชิ้นนี้จบ อยากชวนผู้อ่านทุกคนสำรวจตัวเองในวันที่ต้องออกไปยื่นรอรถเมล์ท่ามกลางอากาศร้อน ๆ ว่าจะรู้สึกอย่างไร

หรือบางทีอากาศร้อนเป็นแค่เรื่องรอง ให้รถเมล์จอดตรงป้ายก่อนก็น่าจะเป็นบุญมากแล้ว

 

ที่มา: Bloomberg, European Commission, Houston Public Media, SELF, chadchart

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related