SHORT CUT
นึกว่ายุโรป ที่ไหนได้ WMO ออกมาไขกระจ่างว่า เอเชียเป็นทวีปที่เกิดภัยพิบัติมากที่สุดในโลก ในปี 2023 โดยทุกเหตุการณ์มีปัญหา Climate Change เป็นต้นตอ และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดเผยว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติซึ่งเกิดจากสภาพอากาศมากที่สุดในโลกในปี 2023
โดยเมื่อปีที่แล้ว เป็นปีที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนทุบสถิติใหม่ และเอเชียก็เป็นภูมิภาคที่มีอากาศร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในเอเชียมีความรุนแรงมากขึ้น และธารน้ำแข็งที่กำลังละลายก็ทำให้อนาคตของความมั่นคงทางแหล่งน้ำเสี่ยงสั่นคลอน
WMO ยังระบุด้วยว่า มีรายงานการเกิดเหตุภัยพิบัติที่เชื่อมโยงกับสภาพอากาศและน้ำ 79 ครั้งในเอเชียเมื่อปี 2023 โดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์เหล่านั้นเกี่ยวข้องกับน้ำท่วมและพายุ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน
เซเลสต์ เซาโล เลขาธิการ WMO เปิดเผยว่า หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียเผชิญกับปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2023 ประกอบกับสภาพอากาศอันสุดโต่ง ตั้งแต่แล้งและคลื่นความร้อน ไปจนถึงน้ำท่วมและพายุ
เอเชียยังเป็นภูมิภาคที่ร้อนเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยอุณหภูมิเมื่อปีที่แล้ว สูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1961-1990 เกือบสององศาเซลเซียส
รายงานดังกล่าวอ้างอิงถึงตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่สำคัญๆ อย่างอุณหภูมิพื้นผิว ธารน้ำแข็ง และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยทั้งหมดย่อมมีผลสะท้อนกลับอันร้ายแรงต่อสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศน์มนภูมิภาค
รายงานยังเอ่ยถึงประเทศไทย ซึ่งเผชิญกับอากาศร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม โดยเมื่อปีที่แล้ว รายงานชี้ว่า ไทยเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงถึง 44.6 องศาเซลเซียสที่จังหวัดตากในวันที่ 15 เมษายน
ขณะที่กรุงเทพฯ ร้อนถึง 41 องศาเซลเซียสในวันที่ 7 พฤษภาคม นับเป็นการทำลายสถิติใหม่ของเมืองหลวง
จริงๆแล้วอากาศในเอเชียร้อนขึ้นจนทำลายสถิติใหม่ ตั้งแต่ไซบีเรีย ไปจนถึงเอเชียกลาง และยาวตั้งแต่จีน ไปจนถึงญี่ปุ่น ขณะที่ญี่ปุ่นเองก็มีฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ด้วย
ขณะที่แถบเทือกเขาหิมาลัย และฮินดูกูช ในปากีสถานและอัฟกานิสถานมีปริมาณน้ำฝน หิมะและลูกเห็บต่ำกว่าระดับปกติ อีกทั้งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนก็แล้งจัด มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าระดับปกติเหมือนกัน
WMO ยังระบุว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งส่วนใหญ่กำลังหายไป และละลายด้วยอัตรารวดเร็ว โดยพบว่า ธารน้ำแข็ง 20 จาก 22 แห่งในภูมิภาคแสดงให้เห็นว่าละลายหายไปจำนวนมากในปีที่ผ่านมา ขณะที่อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันกเฉียงเหนือก็ร้อนขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
ที่มา: WMO, Straitstimes
ข่าวที่เกี่ยวข้อง