SHORT CUT
อากาศร้อนส่งผลต่อร่างกายในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งผลการศึกษาล่าสุดพบว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและโลกร้อน ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศจีนเพิ่มขึ้น และกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด คือคนที่ต้องทำงานกลางแจ้ง
ผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร eBioMedicine ชี้ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอาจจะมีผลกระทบต่อความเสี่ยงที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในจีนเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจุบันนี้คาดการณ์ว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือ CVD เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตปีละประมาณ 19 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าว 5 ล้านคนอยู่ในจีน
นอกเหนือไปกว่านั้นโรคหัวใจและหลอดเลือดยังเป็นสาเหตุทำให้ประชากรกว่า 390 ล้านคนทั่วโลกเผชิญการสูญเสียปีสุขภาวะ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสถานะสุขภาพประชากรแบบองค์รวม
จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อุณหภูมิพื้นผิวโลกของเราเพิ่มขึ้น 1.15 องศาเซลเซียสเหนืออุณหภูมิในช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม ผลการศึกษาหลายชิ้นก่อนหน้านี้ยังรายงานว่า ผลกระทบเชิงลบของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีต่อการเสียชีวิตในภาพรวมนั้น ขึ้นอยู่กับอายุ เพศและสาเหตุการเสียชีวิต
ความร้อนนั้นส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดในหลายด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายเกลือของร่างกาย เหงื่อ ระดับคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้น เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดล้วนไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ขณะที่ปัญหาอากาศร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังสามารถทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ทั้งในหัวใจและกล้ามเนื้อสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดเส้นเลือดในสมอง และหัวใจวายได้
สำหรับกลุ่มคนที่คาดว่า เป็นกลุ่มเปราะบางต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดจากความร้อน คือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในชนบท บุคคลซึ่งมีระดับการศึกษาต่ำ คนไข้ที่ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมอง ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ภาคใต้และตะวันออกของประเทศจีน
รายงานระบุว่า คนที่มีระดับการศึกษาต่ำ ส่วนใหญ่มักจะทำงานที่ต้องอยู่กลางแจ้ง และพวกเขามักไม่มีเงินมากพอที่จะเข้าถึงการแพทย์ และมักล้มป่วยด้วยโรคเรื้อรัง
ดังนั้นผลการศึกษายังย้ำถึงความจำเป็นที่โลกจะต้องจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาโลกร้อนเลวร้ายไปยิ่งกว่านี้
ที่มา : News Medical Life Science