SHORT CUT
ใครว่าโลกร้อนไม่กระทบปากท้อง! สิ่งแวดล้อมยุโรปเตือน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อน อาจทำให้ยุโรปเจอกับภาวะช็อกทางการเงิน เศรษฐกิจเลวร้าย
หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรปออกมาเตือนว่า สหภาพยุโรปหรืออียู กำลังเผชิญความเสี่ยงจะเกิดภาวะช็อกทางการเงิน จากผลพวงที่เกิดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพราะถ้าหากไม่มีการแก้ปัญหาที่จริงจัง ประชาชนหลายล้านคนต้องเสียชีวิตจากคลื่นความร้อน และต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 1 ล้านล้านยูโรจากปัญหาน้ำท่วมชายฝั่ง
สำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรปเตือนว่า ประเทศในสหภาพยุโรป หรืออียู กำลังเผชิญความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดภาวะช็อกทางการเงินอย่างเป็นระบบ จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยผลการศึกษาพบว่า ภูมิภาคยุโรปควรจะเตรียมรับมือกับอุณหภูมิที่จะสูงกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมอย่างน้อย 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2050
ลีนา ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรปให้สัมภาษณ์กับไฟแนนเชียลไทม์ว่า นี่คือการส่งสัญญาณเตือนสำหรับอุตสาหกรรมการเงินและอุตสาหกรรมการประกัน แม้ว่าเราจะไม่ได้เจอกับภาวะช็อกทางการเงินครั้งใหญ่ในวันพรุ่งนี้ แต่มันกำลังสั่งสมขึ้นเรื่อยๆ
ยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีอากาศร้อนขึ้นเร็วที่สุดในโลก และอุณหภูมิก็เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากอัตราเฉลี่ยของโลก โดยอุณหภูมิโลกระยะยาวโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่สำหรับยุโรป จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 องศาเซลเซียสแทน ผลกระทบดังกล่าวอาจจะเลวร้ายมาก
จากรายงานของสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรปที่เผยแพร่วันที่ 11 มีนาคม ชี้ว่า หากไม่มีการแก้ไขที่จริงจัง ประชาชนหลายล้านคนจะต้องเสียชีวิตจากคลื่นความร้อน และสูญเสียเม็ดเงินทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลจากปัญหาน้ำท่วมชายฝั่ง ซึ่งเฉพาะปัญหานี้เพียงเรื่องเดียว ก็อาจจะทำยุโรปเสียหายถึง 1 ล้านล้านยูโรในระยะเวลาหนึ่งปี
รายงานดังกล่าวยังชี้ว่า อุณหภูมิอาจจะเพิ่มขึ้นกว่า 7 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 โดยความเสี่ยงจากสภาพอากาศแบบสุดโต่งจะทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้ลดลง ค่าใช้จ่ายของรัฐจะเพิ่มขึ้น และยังส่งผลทำให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจของประเทศลดลง ต้องหันมากู้ยืมมากขึ้น
รายงานชี้ว่า ยุโรปเผชิญกับความเสียหายจำนวนมาก จากน้ำท่วมรุนแรงและไฟป่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยคลื่นความร้อนในปี 2022 ที่ผ่านมา ทำให้ชาวยุโรปเสียชีวิต 7 หมื่นราย ขณะที่ทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่าง สโลวีเนีย ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆในยุโรป เศรษฐกิจของสโลวีเนียได้รับผลกระทบ ผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ จีดีพี ลดลงถึง 16 เปอร์เซ็นต์ หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ขณะที่กรีซเองก็เผชิญไฟป่าและน้ำท่วมเช่นกัน ส่งผลทำให้ผลผลิตทางการเกษตรประจำปีของประเทศลดลงถึง 15 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่รายงานจากสำนักงานการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสในยุโรปรายงานว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านม่ สูงกว่าค่าเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรม 1.77 องศาเซลเซียส และเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันแล้วที่ร้อนจนทำลายสถิติ
ที่มาข้อมูล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง