svasdssvasds

ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่กรีนแลนด์ แม้น้ำแข็งละลายหนักแต่พื้นดินกลับยกตัว

ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ที่กรีนแลนด์ แม้น้ำแข็งละลายหนักแต่พื้นดินกลับยกตัว

บรรดานักวิทยาศาสตร์ล้วนเป็นกังวลกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น หลายพื้นที่ถูกคาดการณ์ว่าอาจจะต้องถูกน้ำท่วมเร็วๆนี้

โดยที่ “กรีนแลนด์” ดินแดนทางตอนเหนือสุดของโลก ซึ่งเป็นเกาะเต็มไปด้วยน้ำแข็งและหิมะ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่หลายคนเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่า พื้นดินที่นั้นกลับยกตัวขึ้นทุกๆ ปี ทำให้ในอนาคต แม้น้ำแข็งขั้วโลกอาจละลายหนัก น้ำก็อาจจะไม่ท่วมกรีนแลนด์

เครดิต : Reuters

เว็บไซต์ earth.com รายงานอ้างงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเดนมาร์ก หรือ DTU ซึ่งตรวจพบปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดแต่กลับเป็นผลดี โดยพบว่า กรีนแลนด์ ดินแดนทางเหนือสุดของโลก ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์ก มีหินดาน ซึ่งคือชั้นหินแข็งในส่วนของเปลือกโลก ยกตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คือระหว่างปี 2013-2023 ชั้นหินดานยกตัวไปเร็วถึง 20 เซนติเมตร และคาดการณ์ว่า พื้นที่ดังกล่าวจะยกตัวสูงขึ้นถึง 2 เมตรในระยะเวลา 100 ปี ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนี้ กรีนแลนด์ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากน้ำแข็งขั้วโลกละลายอีกต่อไป

งานวิจัยดังกล่าวเป็นผลงานของแดนจัล ลองฟอร์ส เบิร์ก นักศึกษาระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัย DTU ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการละลายของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ แต่เขากลับพบว่า ในขณะที่น้ำแข็งละลาย มันกลับไปลดแรงดันบนพื้นผิวของชั้นหินดาด ส่งผลทำให้แผ่นดินยกตัวขึ้น

การยกตัวครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลต่อเพียงแค่ระบบนิเวศท้องถิ่น แต่มันยังปรับเปลี่ยนแผนที่ทางรูปร่างของกรีนแลนด์ด้วย โดยนำไปสู่การก่อตัวใหม่ของหมู่เกาะขนาดเล็กและโขดหิน

เครดิต : earth.com

การศึกษาครั้งนี้รวบรวมข้อมูลจาก GNET เครือข่ายสถานีตรวจวัดที่ตั้งอยู่ตลอดแนวชายฝั่งของกรีนแลนด์ ซึ่งทำหน้าที่สังเกตการณ์การละลายของน้ำแข็งและการยกตัวของแผ่นดิน

รายงานยังระบุว่า ปรากฏการณ์ยกตัวของพื้นดินในกรีนแลนด์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผลลัพธ์ของกระบวนการฟื้นตัวหลังยุคน้ำแข็ง แต่เบื้องหลังยังเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วย เพราะการที่ ice sheet หรือธารน้ำแข็งภาคพื้นทวีปละลายเพิ่มมากขึ้น เป็นผลโดยตรงจากปัญหาโลกร้อน

ก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เดอะ การ์เดียนรายงานสถานการณ์การละลายของน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ โดยชี้ว่า น้ำแข็งที่กรีนแลนด์ละลายอย่างรวดเร็วในอัตรา 30 ล้านตันต่อหนึ่งชั่วโมง อันเนื่องมาจากปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ ซึ่งมากกว่าที่คาดคิดกันไว้ก่อนหน้านี้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

 

ที่มา : Earth / The Guardian

 

เนื้อหาที่น่าสนใจ :