แม่น้ำอเมซอนแล้งขั้นวิกฤต แห้งแล้งมากกว่าปกติ 30 เท่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำแม่น้ำหลายสายเหือดแห้งจนเห็นดิน สุดเศร้า โลมาสีชมพูนอนตายเกลื่อน 150 ตัว
ภัยโลกเดือดอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทำให้ป่าฝนอเมซอนอันเป็น “ปอดโลก” ต้องเผชิญกับสภาวะแล้งหนักอยู่ทุกปี แม่น้ำอเมซอนหลายสายในลุ่มน้ำนี้ถึงกบแห้งเหือด เหลือเพียงสีน้ำตาลของดินไว้ดูต่างหน้า
ซึ่งต้นตอสาเหตุก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อุณหภูมิโลกเดือดอันเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้ความสภาวะแห้งแล้งในแม่น้ำอเมซอนทวีคูณความรุนแรงมากกว่าปกติ 30 เท่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้แม่น้ำหลายสายค่อย ๆ เหือดแห้งดังที่เห็นในรูป
ภาวะ Climate Change หรือการที่อากาศเปลี่ยนแปลงแบบฉับไวเช่นนี้ ทำให้เกิดผลที่ตามมา 2 เรื่องคือ ปริมาณน้ำฝนลดลง ขณะเดียวกันก็ทำให้อากาศแล้งหนัก แล้งถึงขั้นความชื้นในพืชและใต้ผิวดินระเหยออกไปจนเกลี้ยง กลายเป็นดินตายซากเหลือไว้อย่างนั้น
ถึงจะบอกว่าปริมาณน้ำฝนลดลงมีส่วนทำให้เกิดภัยแล้ง ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว แต่บอสใหญ่ที่ทำให้แม่น้ำอเมซอนต้องไร้ชีวิตชีวา และต้องตกอยู่ในสภาวะแห้งแล้งคือ อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น
ในปี 2023 ที่ผ่านมา เป็นปีที่โลกทำลายสถิติร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้สภาวะแล้งทวีความรุนแรงแบบไม่ไว้หน้าใคร ซึ่งเรื่องนี้มีผลกระทบถึงป่าฝนอเมซอนโดยตรง แต่ในเรื่องร้ายยังพอมีข่าวดี เพราะการศึกษาสรุปไว้ว่า ภัยแล้งรอบนี้น่าจะทุเลาลงเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม
ผลกระทบภัยแล้งถล่มป่าอเมซอนในครั้งนี้มีอยู่ 2 ขยักด้วยกัน
ชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่แถบลุ่มน้ำนี้ เจอผลกระทบหลายด้านหลายทาง ลองนึกดูว่าเมื่อแม่น้ำแทบทุกสายแห้งเหือดไปจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นต่อ เพื่อให้เห็นภาพชัดที่สุดให้มองว่า แหล่งน้ำสำหรับชาวพื้นเมืองอเมซอนเปรียบได้กับถนน เมื่อแม่น้ำหลายร้อยสายเหือดแห้ง เรือก็สัญจรไปไหนมาไหนไม่ได้ การจะเดินทางเพื่อไปหาแหล่งอาหาร หรือไปทำกิจต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องอัตคัดทันที
ชาวพื้นเมืองในมาเนาส์ (Manaus) กว่า 2 ล้านคน ทำได้แค่ยืนมองพืชผลทางการเกษตรค่อย ๆ เหี่ยวเฉาตายลงช้า ๆ และเนื่องจากระดับน้ำลดต่ำมาก หรือบางสายแห้งจนเห็นดิน ทำให้ชาวพื้นเมืองต้องมายืนรอรับข้าวของจากการช่วยเหลือของศูนย์บรรเทาทุกข์
มีสัตว์น้ำต้องตายไปไม่รู้เท่าไร เซ่นพิษภัยแล้งในครั้งนี้ การศึกษาจาก World Weather Attribution ระบุว่า ช่วงที่วิกฤตภัยแล้งพีคหนัก ในหนึ่งสัปดาห์ พบซาก “โลมาแม่น้ำแอมะซอน” (amazon river dolphin) หรือ “โลมาสีชมพู” ตายเกลื่อนกว่า 150 ตัว นี่ยังไม่นับรวมกับปลาชนิดอื่น ๆ ที่ต้องตายไป เพราะระดับออกซิเจนในน้ำต่ำ
“พวกเราควรซีเรียสกับสถานการณ์ของป่าอเมซอนกันมากกว่านี้” Regina Rodrigues นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสหพันธรัฐซานตาคารินาในบราซิล กล่าว
ไม่แปลกใจที่เธอกล่าวเช่นนั้น เพราะป่าอเมซอนเปรียบได้กับเป็น “ปอดของโลก” เหตุเพราะช่วยโลกดูดซับก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลเอาไว้ไม่ให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่หากปอดของโลกโดนภัยแล้งเล่นงานเสียเอง ก็ลองนึกดูว่าหากเราเสียปอดไปสักข้างชีวิตจะเป็นไปแบบอัตคัดแค่ไหน
ที่มา: Aljazeera , The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง