โลกเดือดทำโลกขนมหวานวิกฤต ราคาน้ำตาลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มประกาศขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ขนมหวานของตน ผลมาจากประเทศส่งออกน้ำตาลประสบปัญหาภัยแล้ง
แม้วันนี้ เจ้าของแบรนด์ขนมหวานเจ้าดังน้อยใหญ่ จะยิ้มรับทั้งน้ำตา ในการคงราคาผลิตภัณฑ์ให้เท่าเดิม ท่ามกลางราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้วัตถุดิบสำหรับทำน้ำตาลปลูกยากมากขึ้น อาจทำน้ำตาลขาดตลาดก็เป็นไปได้
สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า ราคาน้ำตาลโลกพุ่งสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 สืบเนื่องจากอินเดียและประเทศไทยเผชิญหน้ากับวิกฤตภัยแล้ง คุกคามพืชผลทางการเกษตร ทำให้มีความกังวลต่ออัตราการผลิตที่ได้ต่ำกว่าปกติ โดยทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก รองจากบราซิล
อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นนับตั้งแต่มนุษย์เข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และปี 2023 ที่ผ่านมา โลกก็ได้บันทึกสถิติร้อนที่สุดเท่าที่เคยพบเจอมาในประวัติศาสตร์มนุษย์ และในปี 2023 นั้นเอง ภัยแล้งก็ได้สร้างภัยคุกคามต่อกาแฟและเบียร์มาก่อนแล้ว และในปี 2024 นี้ก็ถึงคราวของ “ขนมหวาน” แล้ว
หากผู้บริโภคในสหรัฐฯสังเกตดี ๆ จะพบว่า ราคาน้ำตาลและขนมหวานเพิ่มขึ้น 8.9% ในปี 2023 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.6% ในปี 2024 นี้ ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตมาก
และในเดือนพฤศจิกายน Mondelēz บริษัทแม่ของ Cadbury, Oreos และ Toblerone ก็ได้มีการเตือนลูกค้าและผู้บริโภคถึงการขึ้นราคาในผลิตภัณฑ์ของตน โดยบริษัทดังกล่าวได้กล่าวกับ Bloomberg ว่า จะมีการขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากน้ำตาลและโกโก้มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงตาม
และอีกปัญหาคือ เมื่อการผลิตน้ำตาลทำได้ยากมากขึ้น ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาล ก็จะเริ่มสต๊อกสินค้าเพื่อหมุนเวียนใช้ภายในประเทศของตนเองก่อน ซึ่งสิ่งนี้เริ่มเกิดขึ้นที่บราซิลแล้ว หลังการส่งออกน้ำตาลมีการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด
โจเซฟ กลาวเบอร์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ กล่าวว่า สภาพอากาศสุดขั้วส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกับเกษตรกร ราคาน้ำตาลจะยังคงสูงต่อไป จนกว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะลดลง
ในขณะเดียวกัน ช่วงปลายปี 2566 ราคาน้ำตาลทรายในญี่ปุ่น ก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบและค่าเงินเยนอ่อนตัว
สาเหตุหลักของการขึ้นราคา คือ น้ำตาลทรายดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตน้ำตาลพุ่งสูงขึ้น ดัชนีระหว่างประเทศตลาดนิวยอร์กฟิวเจอร์ส (ระยะสั้น) แตะระดับสูงสุดในรอบ 12 ปีในช่วงกลางเดือนกันยายน เป็นผลพวงมาจากความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น อินเดียและไทย ทำให้ถูกคาดการณ์ว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่ดีในช่วงปี 2566 ถึงปี 2567 และคาดว่าอุปทานของสินค้าจะขาดแคลน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่วนประเทศอินเดียก็ระงับการใช้อ้อยผลิตเอทานอลเพื่อพยุงการผลิตน้ำตาลในประเทศ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง เดือนตุลาคม 2567 โดยรัฐบาลอินเดียให้สาเหตุว่า ปริมาณฝนที่ตกลงมาในปีนี้น้อยกว่าปกติ ทำให้ผลผลิตอ้อนในประเทศน้อยกว่าที่คาดการณ์ อีกทั้ง ช่วงเลือกตั้งใกล้เข้ามาแล้ว จึงมีความจำเป็นมากพอในการตรึงราคาสินค้าในประเทศ
สำหรับประเทศไทย ในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ชาวไร่อ้อยก็ออกมาขอให้รัฐขึ้นราคาน้ำตาลทราย เพราะราคาในตลาดปรับตัวสูงขึ้นและอาจทำให้เกษตรกรเสียเปรียบ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา ปุ๋ยมีราคาแพงขึ้นสามเท่าตัว ค่าแรงก็ปรับขึ้น ราคาน้ำมันก็อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง อีกทั้งเกษตรกรยังเผชิญภัยแล้งอีก
และแม้ว่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะกล่าวว่า ไทยนั้นได้เปรียบ เนื่องจากเอลนีโญทำให้ไทยส่งออกข้าวและน้ำตาลได้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของน้ำตาล ไม่ต้องกังวลว่าจะขาดตลาด เพราะจะถึงฤดูการหีบอ้อยแล้ว ซึ่งก็จะสามารถเติมเต็มได้ แม้ว่าราคาจะมีการปรับขึ้นมาบ้างก็ตาม โดยช่วงนี้ขึ้นไป 2 บาท/กิโลกรัม ในภาคอุตสาหกรรมยังรับได้อยู่
แต่ก็อย่าลืมว่า ในขณะเดียวกัน ต้นทุนทางการเกษตรยังคงสูงอยู่ และในปี 2024 เอลนีโญยังคงอยู่กับคนไทย อาจทำให้กรมชลประทานเตรียมน้ำให้ไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้เพื่อการเกษตรทั่วประเทศ
การศึกษาทั้งหมดได้แสดงให้เห็นว่า ความร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ขัดขวางความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในการผลิตพืชผล และในขณะเดียวกัน พืชอื่น ๆ เช่น ข้าวสาลีที่เจริญเติบโตในพื้นที่เขตหนาวอย่างรัสเซียและแคนาดา ปัจจุบันก็มีอากาศหนาวเกินไปที่จะปลูกได้
เอกสารวิจัยของธนาคารกลางยุโรประบุเมื่อปีที่แล้วว่า อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารทั่วโลกอาจสูงถึง 3% ต่อปีภายในช่วงปี 2030 เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หากไม่มีการดำเนินการด้านการปรับตัวที่สำคัญ
ที่มาข้อมูล
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ญี่ปุ่น)
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (อินเดีย)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง