การศึกษาล่าสุดพบว่า กระแสน้ำในทะเลอามุนด์เซนที่อุ่นขึ้น ทำน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกตะวันตกละลายเร็วกว่าในอดีตถึง 3 เท่า ส่งผลให้น้ำทะเลสูงขึ้น 5 เมตร เมืองชายฝั่งเตรียมรับผลกระทบ!
ดูเหมือนปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะเริ่มออกฤทธิ์ให้เราได้เห็นกันเรื่อย ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสัตว์ ผลกระทบต่อมนุษย์ หรือผลกระทบต่อธรรมชาติ
งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ทาง Nature Climate Change พบว่า การละลายของชั้นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกตะวันตกเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้แล้ว สืบเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
นั่นทำให้ผลกระทบที่ตามมาคือ ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และแม้เราจะช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขนาดไหน ก็จะไม่ทำให้น้ำแข็งละลายช้าลง
การศึกษาดังกล่าวนำทีมโดย Kaitlin Naughten ในการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เราเห็นว่าอัตราการละลายของน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในทะเลอามุนด์เซนที่แอนตาร์กติกตะวันตกจะเร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่าในช่วงศตวรรษนี้
แม้ว่าโลกจะร่วมกันทำความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในเรื่องการรักษาระดับอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น แม้เราจะช่วยกันลดความร้อนของโลกลง ณ ตอนนี้ ก็ช่วยสถานการณ์นี้ได้แค่เล็กน้อยเท่านั้น ที่จะหยุดน้ำในมหาสมุทรไม่ให้อุ่น จนไปละลายน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกตะวันตก
เป็นที่ทราบดีว่า แอนตาร์กติกตะวันตกเป็นภูมิภาคสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และแอนตาร์กติกตะวันตกก็มีปริมาณน้ำแข็งมากเพียงพอที่จะทำให้น้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นกว่า 5.3 เมตร
นอกจากนี้ แอนตาร์กติกตะวันตกยังเป็นที่ตั้งของธารน้ำแข็งทเวตส์ (Thwaites Glacier) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ธารน้ำแข็งแห่งวันโลกาวินาศ” เนื่องจากน้ำทะเลที่สูงขึ้นหลายเมตรจากการละลายของธารน้ำแข็ง ทำให้ประเทศแถบชายฝั่งได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง
ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมมีผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งมีหลายพื้นที่ของประเทศที่เป็นพื้นที่ติดแถบชายฝั่ง ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลแค่ 1.5 เมตร หมายความว่า ถ้าระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 5.3 เมตรจริง กรุงเทพฯ ก็มีโอกาสสูงทีเดียวที่น้ำจะท่วม รวมถึงพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลในส่วนอื่น ๆ ของประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Ted Scambos นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจก็เพราะ
“ผู้คนในปัจจุบัน จะทันได้เห็นอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มสูงขึ้นในประเทศแถบชายฝั่งทะเลทั่วโลก”
ผู้เชี่ยวชาญอีกหนึ่งท่านที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการศึกษาครั้งนี้คือ Tiago Segabinazzi Dotto นักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่ศูนย์สมุทรแห่งชาติในสหราชอาณาจักร โดยกล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ควรต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในการศึกษาหรือสรุปอะไรออกมา
ทางด้านของ Naughten และผู้ร่วมศึกษาได้แจ้งว่า เธอเข้าใจว่าการศึกษานี้มีข้อจำกัดอยู่ และการจะทำนายอัตราการละลายในอนาคตของแอนตาร์กติกตะวันตกนั้น เป็นเรื่องซับซ้อนมาก แต่เธอก็ยังยืนยันว่า ขณะนี้การละลายของน้ำแข็งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว
“คำถามเรื่องความเศร้าและหายนะเป็นสิ่งที่ฉันใช้เวลาครุ่นคิดอยู่มากเหมือนกันกับการศึกษาครั้งนี้ เพราะฉันไม่รู้จะสื่อสารข่าวร้ายนี้ออกไปอย่างไร” Naughten กล่าว
“ถ้าเป็นวิธีตามขนบ ฉันก็ควรจะต้องให้ความหวังกับผู้คนบ้าง แต่กับเรื่องนี้ฉันไม่เห็นว่าเราจะมีหวังกันได้อย่างไร แต่นี่คือสิ่งที่วิทยาศาสตร์บอกฉัน และฉันต้องบอกให้ทุกคนรู้”
“การละลายของชั้นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกตะวันตกถือเป็นผลกระทบหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วเราทำอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากปรับตัวให้อยู่รอดให้ได้ เพราะถึงยังไง เราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นได้แล้ว”
ที่มา: CNN
ข่าวที่เกี่ยวข้อง