CFI Singapore หรือ สถาบันป้องกันชายฝั่งและการฟื้นฟูน้ำท่วมแห่งสิงคโปร์ คือศูนย์วิจัยแห่งใหม่ที่สิงคโปร์จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับมือกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ
สถาบันป้องกันชายฝั่งและการฟื้นฟูน้ำท่วมแห่งสิงคโปร์ (CFI Singapore – Singapore’s new Coastal Protection and Flood Resilience Institute) เป็นชื่อของศูนย์วิจัยใหม่ในสิงค์โปร์ ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2023 ที่ผ่านมา
โดยมีเป้าหมายในการค้นหาวิธีแก้ปัญหาระยะยาว เพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า พื้นที่ราบต่ำของประเทศสิงคโปร์เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมหรือการจมน้ำ
แม้ในความเป็นจริง สิงคโปร์ไม่ใช่เมืองโดดเดี่ยว ที่อาจจะกลายเป็นผู้ประสบภัยน้ำทะเลเพิ่มขึ้นสูงจนอาจจะหนุนให้น้ำทะลักเข้าท่วมเมือง ยังมีอีกหลายเมืองที่ก็ได้รับความเสี่ยงนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
งานวิจัยชิ้นโดย Climate Central แสดงให้เห็นว่าเส้นทางการปล่อยมลพิษในปัจจุบันเป็นหนทางนำไปสู่ภาวะโลกร้อนที่ร้อนขึ้น 3 องศาเซียลเซียสในเมืองใหญ่ทั่วโลกประมาณ 50 เมือง ซึ่งเราต้องหาทางป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะสูญเสียพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นไป
อินโดนีเซียเป็นอีกตัวอย่างของเมืองที่ย้ายเมืองหลวงเพื่อหนีระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา จากจาการ์ตา สู่ “นูซันตารา” เปลี่ยนจากเกาะหนึ่งไปยังเกาะหนึ่ง เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา ทางตอนเหนือของจาการ์ตาพื้นดินทรุดตัวลงไปแล้ว 2.5 เมตร และบางส่วนทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่องประมาณ 25 เซนติเมตรต่อปี โดยตอนนี้ครึ่งเมืองเริ่มต่ำกว่าระดับน้ำทะเลแล้ว หลายอาคารบ้านเรือนเริ่มปล่อยทิ้งร้ายจากการทรุดตัว และดูดตัวตึกลงไปยังใต้ดิน ทำให้เกิดการไหลของประชากรไปยังจังหวัดอื่นๆแทน
ยังมีอีกหลายเมืองที่ถูกนักวิทยาศาสตร์หลายท่านทั่วโลก คาดการณ์ว่าเมืองที่ติดกับทะเล หรือเป็นเมืองชายฝั่งอาจจะจมน้ำในช่วงปี 2030-2050 ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเมืองหลวงของไทย อย่างกรุงเทพมหานครด้วย
ดังนั้น การที่สิงคโปร์เริ่มไหวตัวและเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ถือว่าเป็นการรับมือที่ชาญฉลาด สิงคโปร์ได้รับการคาดการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 1 เมตรภายในสิ้นศตวรรษนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าผลกระทบอาจรุนแรงขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบปริมาณน้ำฝน กระแสน้ำที่สูงขึ้น และคลื่นพายุที่รุนแรงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นิวยอร์กซิตี้กำลังจมน้ำ เพราะมีตึกมากเกินไป เสี่ยงน้ำท่วมใหญ่ จากโลกร้อน
การศึกษาใหม่เผย ระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มขึ้นไม่หยุดในสหรัฐฯ ไทยจะรอดไหม?
สิงคโปร์ลงทุนอย่างมากเพื่อปรับปรุงการระบายน้ำและได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันน้ำท่วม รวมถึง กำแพงกันคลื่น ประตูน้ำขึ้นน้ำลง และเขื่อนเพื่อป้องกันการกัดเซาะ นอกจากนี้ สิงคโปร์ก็ได้เปิดตัวกองทุนป้องกันชายฝั่งและน้ำท่วมมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว ๆ หนึ่งแสนสามหมื่นล้านบาทไทย ในปี 2563
CFI Singapore เป็นโครงการริเริ่มร่วมกันโดย PUB หน่วยงานด้านน้ำของสิงคโปร์ ซึ่งหากมีใครจำได้ PUB เป็นหน่วยงานที่ได้ออกแบบเบียร์ New Brew เบียร์จากน้ำสุขาใช้แล้ว ที่สร้างเสียฮือฮาไปทั่วโลก
นอกจากนี้ CFI Singapore ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ด้วย ในการช่วยกันมองหาความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมใหม่ ๆ เช่น กำแพงกันคลื่นที่ยืดหยุ่น ตลอดจนวิธีแก้ปัญหาด้วยธรรมชาติ เช่น การใช้ป่าชายเลนหรือหญ้าทะเลเป็นแนวหน้าในการป้องกันชายฝั่ง
ผู้เชี่ยวชาญของสิงคโปร์มองว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสิงคโปร์ คือต้องมั่นใจให้ได้ว่าสิงคโปร์จะไม่สูญเสียที่ดินประเทศจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น นี่จึงเป็นความหวังของสิงคโปร์ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อต่อสู้กับโลกร้อนขึ้นมาเพื่อให้เมืองพ้นภัยที่ไม่อาจแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้
รู้หรือไม่ ประเทศไทยมีการจัดตั้งศูนย์เพื่อต่อสู้กับโลกร้อนเช่นเดียวกัน
ประเทศไทยมีกรมที่ชื่อว่า “กรม Climate Change” หรืออีกชื่อ “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การบริหารการจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)
โดยมีหน้าที่ในการผลึกกำลังร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำประเทศบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero HGH emission) ภายในปี 2065
ที่มาข้อมูล
Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง