ปัจจุบันเราได้ก้าวผ่านช่วงภาวะโลกร้อนมาแล้ว และเข้าสู่ยุคโลกเดือดที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นกว่าเดิมแม้ว่าเราจะเร่งมือช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ตาม ซึ่งการที่สภาพอากาศโลกแปรปรวนขนาดนี้ได้ส่งผลให้แหล่งมรดกโลกหลายแห่งตกอยู่ในภาวะอันตรายจาก Climate Change
แหล่งมรดกโลกคือพื้นที่ที่มีคุณค่าและมีลักษณะสำคัญทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่น ซึ่งได้รับคัดเลือกจากยูเนสโกและได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญา สถานที่เหล่านี้ถือว่าสำคัญต่อประโยชน์โดยรวมของมนุษยชาติ
จากการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเผยว่า ภาวะโลกเดือดอาจส่งผลกระทบกับโบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งมรดกโลก ทำให้เกิดความเสียหายอย่างที่ไม่สามารถฟื้นฟูให้มีสภาพเดิมได้ นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยฟิสิกส์บรรยากาศและภูมิอากาศที่สถาบันการศึกษาในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ก็ยังได้เตือนว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ จะทำให้ชั้นบรรยากาศเป็นกรดมากขึ้น ซึ่งเป็นภัยกับแหล่งมรดกโลกและวัตถุโบราณต่างๆ ที่อยู่ใต้น้ำ
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
ยูเนสโกยังไม่พิจารณา Great Barrier Reef ในลิสต์มรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย
IUCN เผยสภาวะโลกรวนอาจทำป่ามรดกโลกเสื่อมลง ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อยู่ในลิสต์
"ยุคที่โลกเดือด" คลื่นความร้อนปกคลุมระอุทั่วโลก อุณหภูมิสูงทำผลกระทบหนัก
อิทธิพลของโลกเดือดอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น ธารน้ำแข็งละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตกของฝนและการเกิดภัยแล้ง ความถี่ของการเกิดไฟป่า การฟอกขาวของปะการัง การกัดเซาะชายฝั่ง การเกิดพายุ และอื่นๆ
ยูเนสโก (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนสถานที่ 1,157 แห่งที่ให้เป็นมรดกโลก โดยพิจารณาจากคุณค่าที่โดดเด่นในระดับสากล ไม่ว่าจะในเชิงธรรมชาติหรือวัฒนธรรม ซึ่งรายชื่อ “แหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย” มีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการปัญหาต่างๆ ที่กำลังคุกคามแหล่งมรดกโลกอย่างเอาจริงเอาจัง เรามีตัวอย่างมาให้ดู
เวนิส, ประเทศอิตาลี
แหล่งมรดกโลกล่าสุดที่เตรียมขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกที่กำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย (World Heritage in Danger) ซึ่งเมืองเวนิสกำลังเสี่ยงได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถฟื้นฟูให้มีสภาพดังเดิมได้ เนื่องจากผลกระทบในหลายๆ ด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม และภัยแล้ง รวมถึงการที่ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมากจนล้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ อย่างการเติบโตของชุมชนเมืองจนมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารบ้านเรือนที่เก่าแก่ ทำให้เสียความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและสังคมของเวนิสไป จึงมีการเสนอแนะให้ทางการอิตาลี เพิ่มความพยายามในการอนุรักษ์เมืองเวนิส ซึ่งเป็นแหล่งมรดกสำคัญทางประวัติศาสตร์ และลำคลองต่างๆ โดยรอบเมืองให้คงสภาพเดิมให้มากที่สุด
พระราชวังเวสต์มินสเตอร์, สหราชอาณาจักร
พระราชวังเวสต์มินสเตอร์เป็นอีกหนึ่งแหล่งมรดกโลกที่สำคัญของสหราชอาณาจักร และได้มีการคาดการณ์ว่าแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตรายนี้ จะได้รับผลกระทบจาก Climate Change ในเรื่องระดับน้ำทะเลบริเวณปากแม่นน้ำเทมส์ที่สูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยของช่วงปี ค.ศ. 1961-1990 ประมาณ 0.26 - 0.86 เมตร ภายในคริสต์ทศวรรษที่ 2080 ระดับน้ำที่ปากแม่น้ำเทมส์มีการขึ้นลงตามระดับน้ำทะเล ซึ่งในบางครั้งจะถูกหนุนโดยสภาวะอากาศในทะเลเหนือ พื้นที่รับน้ำบริเวณแม่น้ำเทมส์ถูกคาดการณ์ว่าจะตกอยู่ภายใต้ความกดดันเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกระแสน้ำจะสูงขึ้นในช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เครื่องกั้นแม่น้ำเทมส์ (Thames Barriers) ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องชีวิต ที่ดิน และทรัพย์สินจากระดับกระแสน้ำสูงสุดและคลื่นพายุซัดฝั่ง (Strom surge) เครื่องป้องกันนี้คาดว่าจะถูกใช้ 2-3 ครั้งต่อปี แต่ในปัจจุบันเครื่องป้องกันนี้ถูกใช้ไปแล้ว 6-7 ครั้งใน 1 ปี
หากมีระดับน้ำสูงกว่าระดับเครื่องป้องกันนี้ จะมีค่าใช้จ่ายทางอ้อมต่อเศรษฐกิจถึงสามหมื่นล้านปอนด์ และน้ำที่ท่วมจะกลืนพื้นที่แหล่งมรดกโลกที่อยู่ใกล้แม่น้ำเทมส์นั่นก็คือ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์และหอคอยแห่งลอนดอน ซึ่งเครื่องกั้นแม่น้ำเทมส์จะใช้ป้องกันได้ถึงปี ค.ศ. 2025 ก่อนที่เหตุการณ์น้ำท่วมทุกรอบ 1,000 ปีจะกลับมา ผู้จัดการแหล่งมรดกโลกจำเป็นต้องมีกระบวนการวางแผนที่กว้างขวางยิ่งขึ้นในการทำเครื่องกั้นแม่น้ำเทมส์แนวใหม่ ให้คลอบคลุมถึงการวางแผนจัดการน้ำท่วมในพื้นที่ลอนดอน การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาแผนการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกควรรวมประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในข้อกำหนดสำหรับการบริหารจัดการในช่วง ๒๕-๓๐ ปีข้างหน้า
อุทยานแห่งชาติสคารมถะ, ประเทศเนปาล
ภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่ออุทยานแห่งชาติสคารมถะ ประเทศเนปาล ซึ่งอุณหภูมิที่สูงขึ้น 1 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ทำให้น้ำแข็งและหิมะปกคลุมลดงลงถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน และปรากฏการณ์ที่มีทะเลสาบขึ้นมาทดแทนธารน้ำแข็งสูง 4,000 เมตร บนเขาเอเวอร์เรส ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันจากน้ำในทะเลสาบถี่ยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเสี่ยงและยังมีผลเชื่อมโยงไปถึงปริมาณในเอเชียใต้ และการไหลของแม่น้ำสายสำคัญ เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำสินธุ และแม่น้ำพรหมบุตร อีกด้วย
อุทยานแห่งชาติวาสการาน, ประเทศเปรู
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change มีผลทำให้อุทยานแห่งชาติวาสการานในประเทศเปรู เป็นแหล่งมรดกโลกที่อยู่ในภาวะอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละลายธารน้ำแข็งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพและปริมาณของน้ำที่ไหลมาจากภูเขา อีกทั้งยังมีผลทำให้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงการอพยพย้ายถิ่นของสิ่งมีชีวิตบางชนิดไปยังพื้นที่ที่สูงขึ้น การเกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติวาสการานเป็นภัยคุกคามต่อแหล่งโบราณคดีชาวิน (Chavin) ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่อยู่ใกล้เคียง
แหล่งทางวัฒนธรรมในเขตยูคอน, ประเทศแคนาดา
แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมเขตยูคอน ประเทศแคนาดา เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของนักล่าปลาวาฬในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งที่แห่งนี้มีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น อย่างไรก็ตามการเสื่อมลงของชั้นดินเยือกแข็งนำไปสู่การทรุดตัวของพื้นดินซึ่งส่งผลกระทบต่อป้ายหลุมศพหรือหีบศพที่ฝังอยู่ในสุสานบริเวณหุบผาพอลลีน (Pauline Cove) หีบศพจำนวนหนึ่งพังทลายลงมาพร้อมดินถล่มทรุดตัวอยู่ในสภาพแตกหัก คุณค่าของแหล่งมรดกนี้จึงถูกคุกคามก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกเสียอีก
ที่มา : UNESCO