svasdssvasds

Climate Talk: หรือเรากำลังเข้าสู่หน้าร้อนนิรันดร์

Climate Talk: หรือเรากำลังเข้าสู่หน้าร้อนนิรันดร์

เรามักจะได้ยินมุกที่ว่า เมืองไทยมีสามฤดู คือฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อนที่สุด ด้วยเหตุว่าเมืองไทยมักมีอากาศร้อนทั้งปี อย่างไรก็ตามมุกพูดเล่น ขำๆ นี้ กำลังดูเหมือนจะกลายเป็นจริง เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าขั้นสภาวะโลกเดือด

โลกร้อน ไทยร้อน

จากสภาพอากาศในกรุงเทพฯ ช่วงที่ผ่านมา หลายๆ คนที่เป็นชาวบางกอกอาจรู้สึกเช่นเดียวกันว่า แม้ว่าช่วงเวลานี้ของปีจะเป็นช่วงฤดูฝน แต่วันใดที่ไม่มีฝนและแดดออกจ้า ก็จะพบว่าสภาพอากาศกรุงเทพฯ ร้อนอบอ้าว ไม่ต่างจากช่วงกลางเดือนเมษา

ไม่เพียงแต่สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นจนรู้สึกได้ ข้อมูลสถิติอุณหภูมิของประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา ยังชี้ว่า หน้าฝนนี้เราเผชิญกับอากาศร้อนผิดปกติ โดยจากข้อมูลสภาวะอากาศในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เผยว่า ทั่วทุกภูมิภาคของไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติในทุกภาค อีกทั้งปริมาณฝนในพื้นประเทศไทยตอนบนยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยในพื้นที่ภาคกลางมีความผันผวนของอุณหภูมิและปริมาณฝนมากที่สุด เพราะต้องเผชิญกับอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติถึง 1.2 องศาเซลเซียส และมีปริมาณตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 35%

สภาพอากาศที่ร้อนและแล้งขึ้นในไทยปีนี้ สอดคล้องกับสถานการณ์ภูมิอากาศโลก ซึ่งนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน อุณหภูมิของโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จนทำให้เดือนมิถุนายน และเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการตรวจวัดเก็บข้อมูล อุณหภูมิโลกร้อนระอุยังพุ่งทะยานทำลายสถิติวันที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในวันที่ 7 กรกฎาคม โดยสร้างสถิติใหม่ที่ 17.24 องศาเซลเซียส

เนื่องด้วยอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นจนทำลายสถิติ ส่งผลให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับคลื่นความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทั้งคลื่นความร้อนหนักหน่วงที่ส่งผลกระทบอากาศร้อนจัดทั่วยุโรป ฟป่ารุนแรงที่แคนาดา หรือแม้กระทั่งน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายอย่างรวดเร็วจนทำสถิติขอบเขตน้ำแข็งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 

พ่อค้าแม่ค้ารถเข็นต้องเข็นรถฝ่าแดดที่้อนร้อนจัด เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยโลกในเดือนกรกฎาคมยังพุ่งทะลุเพดานคุมโลกร้อนตามความตกลงปารีส ที่ตั้งเป้ารักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียส ยาวนานติดต่อกันถึง 16 วัน ซึ่งถ้าหากเราไม่สามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกินเกณฑ์นี้ มนุษยชาติจะตกอยู่ในความเสี่ยงจากหายนะทางสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยยิ่งอุณหภูมิโลกพุ่งสูงเกินเกณฑ์มากขึ้นเท่าใด เราจะยิ่งตกอยู่ในอันตรายจากวิกฤติสภาพอากาศมากขึ้นเท่านั้น

จากสภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตร์เรส ออกมาย้ำเตือนถึงภัยจากสภาวะโลกร้อนที่เกินควบคุมจนเลยเถิดกลายเป็นสภาวะโลกเดือด ซึ่งหากประชาคมโลกไม่เร่งรับมือแก้ไข เราจะต้องเผชิญกับหายนะทางสภาพภูมิอากาศหนักขึ้นๆ ในอนาคต

แผนภูมิคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก  ที่มา: Climate Action Tracker

โลกจะร้อนขึ้นอีกแค่ไหน

จากผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดย คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เผยว่า ถึงแม้ว่าประชาคมโลกจะประสบความสำเร็จในการร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็ว แต่ผลพวงจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมา อาจทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะทะยานเกินกรอบ 1.5 องศาเซลเซียส ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ ดังนั้นผลพวงจากโลกร้อนวิกฤติที่โลกต้องเผชิญในปีนี้ กำลังจะเป็นวิกฤติการณ์ที่เราจะต้องพานพบทุกๆ ปี

ยิ่งไปกว่านั้น ผลการวิเคราะห์ของ IPCC ชี้ว่า หากมนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปเรื่อยๆ โลกจะยิ่งตกในความเสี่ยงสูงที่จะร้อนขึ้นถึง 2.7 - 4.4 องศาเซลเซียส นับเป็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่สูงเกินขีดอันตราย ซึ่งไม่เพียงก่อให้เกิดหายนะทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทั่วโลก ซ้ำยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์โดยตรง โดยเฉพาะต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์ รวมไปถึงความมั่นคงทางอาหารและน้ำ

โดยรายงานของ IPCC ระบุชัดว่า จากอุณหภูมิโลกที่ทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนทั่วโลกจะต้องประสบกับความเสี่ยงโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องจากความร้อนมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น อากาศที่ร้อนขึ้นยังขยายขอบเขตการระบาดของโรคเขตร้อนอย่าง ไข้มาลาเรีย และยังปลุกเชื้อโรคแช่แข็งที่ซ่อนอยู่ในชั้นดินเยือกแข็งให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

ผู้มีรายได้น้อยเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบตรงและหนักที่สุดจากสภาพอากาศร้อนสุดขั้ว

ขณะเดียวกันสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น ยังกระทบต่อระบบนิเวศและการผลิตอาหารของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงวงจรฤดูกาล  ฝนแล้งหรือน้ำท่วมที่เกิดบ่อยขึ้น จะทำลายพืชผลการเกษตร ทำให้ราคาอาหารจะยิ่งแพงขึ้น และยิ่งหากโลกร้อนจนสุดขั้วมากกว่า 4 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนแล้งจะเปลี่ยนหลายพื้นที่ให้กลายเป็นทะเลทราย

อย่างไรก็ตาม รายงาน IPCC กล่าวย้ำว่า หากเราช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง มนุษยชาติยังมีโอกาสพลิกสถานการณ์โลกร้อน และดึงให้อุณหภูมิโลกลดลงมาอยู่ภายในกรอบ 1.5 องศาเซลเซียส ภายในช่วงสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ได้

 

ทางรอดยุคโลกเดือด

ประเทศไทยแม้เป็นประเทศเขตร้อน แต่ก็ได้รับผลพวงจากคลื่นความร้อนหนักหน่วงไม่แพ้ประเทศเขตอบอุ่น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องทำความเย็น และแรงงานที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ที่ได้รับผลกระทบแล้วจากสภาพอากาศที่ร้อนยิ่งขึ้น โดยข้อมูลจากกรมการแพทย์เผยว่า ในช่วงระหว่างปี 2558 – 2562 ประเทศไทยมีอัตราการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากความร้อนมากยิ่งขึ้น และมีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 43 ราย

เช่นเดียวกับงานวิจัยโดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่พบว่า ความชุกของโรคที่เกิดจากความร้อนในหมู่เกษตรกรที่ต้องทำงานกลางแจ้งมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาผลกระทบจากคลื่นความร้อนและอากาศร้อนจัดในไทยยังไม่เป็นที่ตื่นรู้ในวงกว้างเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่นๆ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนจัดแทบตลอดทั้งปี

ปัญหานี้ยังเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับปัญหาเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มแรงงาน คนจน และคนชายขอบ ที่ต้องทนทำงานและอยู่อาศัยท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การใช้ชีวิตของผู้คนจะเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ผลการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและปริมาณฝนของประเทศไทย โดยศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยรายปีของไทยในอีก 47 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2613) จะทะยานสูงถึง 41 – 43 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ที่ต้องทำงานและใช้ชีวิตกลางแจ้ง

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งที่ภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรหันมาสนใจ และเตรียมพร้อมรับมือภัยจากสภาพอากาศร้อนจัด เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะ และเพิ่มร่มเงาให้เมือง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้เย็นลง นอกจากนี้ เรายังจำเป็นที่จะต้องมีระบบแจ้งเตือนภัยอากาศร้อน และมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศร้อนจัดที่เข้าถึงทุกคน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการรับมือโลกร้อนอย่างเป็นธรรม

related