หมดเวลาที่ธรรมชาติอารีย์ โลกกำลังก้าวข้ามสู่สมัยธรณีกาลใหม่ “แอนโทรโพซีน” ยุคสมัยแห่งมนุษย์ ที่กระทำของน้ำมือมนุษย์ต่อระบบนิเวศและธรรมชาติ กำลังย้อนกลับมาแว้งกัดมนุษยชาติ
เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกต่างกำลังพูดถึงจุดก้าวข้ามที่โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่สมัยทางธรณีกาลใหม่ สมัยแอนโทรโพซีน หรือยุคสมัยแห่งมนุษย์ ยังมีข้อถกเถียงว่าจุดเปลี่ยนผ่านระหว่างสมัยทางธรณีกาลอยู่ที่จุดไหนกันแน่ และเรามาถึงยุคใหม่นี้แล้วหรือยัง
วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับยุคสมัยใหม่ของมนุษยชาติ ความเกี่ยวพันกับปรากฎการณ์สภาวะโลกร้อน และอนาคตแบบใดที่กำลังรอเราอยู่ในยุคสมัยแห่งมนุษย์
โฮโลซีน: ยุคธรรมชาติอารีย์ อู่กำเนิดมนุษยชาติ
นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคน้ำแข็งเมื่อ 11,700 ปีที่ผ่านมา โลกอยู่ในยุคสมัยที่สภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างเสถียร และอบอุ่น หรือสมัยโฮโลซีน (Holocene) โอบเอื้อให้มนุษยชาติที่กำลังเพิ่งเริ่มตั้งไข่ในตอนนั้น ได้ค่อยๆ พัฒนาวิถีการดำรงชีพจากการล่าสัตว์ จนเริ่มรู้จักเพาะปลูก สร้างชุมชน และก่อเกิดอารยธรรมมนุษย์ที่พัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และแผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก
อ้างอิงจากบทความของ ดร.ตรงใจ หุตางกูร โฮโลซีน คือชื่อสมัยทางธรณีวิทยา (epoch) เป็นยุคที่ต่อเนื่องมาจากยุคน้ำแข็งในสมัยไพลโตซีน (Pleistocene) ที่สิ้นสุดลงพร้อมกับยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย เป็นช่วงที่โลกอยู่ในยุคอากาศอบอุ่น (recent interglacial period) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฏจักรหนาวสลับอุ่น” (Glacial-Interglacial Cycles) ของยุคควอเทอร์นารี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สิ่งมีชีวิตในทะเลหายไป 90% เหตุจากโลกรวน ประเทศพึ่งอาหารทะเลเดือดร้อนหนัก
NASA เผยภาพระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ช่วง 30 ปี เพิ่มเกือบ 10 ซม. เหตุจากภาวะโลกร้อน
อธิบายให้ง่ายคือ เมื่อราว 2.5 ล้านปีที่แล้วในสมัยไพลโตซีน โลกเข้าสู่สภาวะยุคน้ำแข็งสลับกับช่วงอากาศอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง เป็นสมัยที่สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนกลับไปกลับมา ระหว่างยุคน้ำแข็งที่โลกมีอากาศหนาวเย็น พืดน้ำแข็งขั้วโลกขยายตัวขยับรุกเข้าใกล้เส้นศูนย์สูตร กับช่วงระหว่างยุคน้ำแข็งที่โลกมีสภาพอากาศอบอุ่นขึ้น และธารน้ำแข็งหดตัวกลับหาขั้วโลก
สมัยโฮโลซีน คือช่วงเวลาล่าสุดที่โลกอยู่ในช่วงระหว่างยุคน้ำแข็ง ซึ่งมีสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยของมนุษย์ เพราะธารน้ำแข็งที่ล่าถอย เปิดพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลให้มนุษย์ได้จับจอง อากาศอบอุ่นมีเสถียรภาพ เหมาะแก่การเพาะปลูกตั้งถิ่นฐาน
ประวัติศาสตร์มนุษย์นับตั้งแต่อารยธรรมแรกผลิบานในเมโสโปเตเมีย จวบจนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่นำมนุษยชาติก้าวกระโดดสู่วิถีชีวิตสมัยใหม่ ล้วนอยู่ในสมัยที่อากาศโลกเป็นใจ เอื้อต่ออารยธรรมมนุษย์ ในสมัยนี้ทั้งสิ้น
แต่อย่างไรก็ตาม จากสภาพภูมิอากาศและสภาพธรรมชาติของโลกที่กำลังแปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา อันเป็นผลจากน้ำมือมนุษย์ จากทั้งอุณหภูมิของโลกที่กำลังเพิ่งสูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อน สภาพอากาศโลกที่แปรปรวน ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลอีกต่อไป ไปจนถึง ไมโครพลาสติกที่แพร่กระจายไปทั่วในสิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนในทุกอณูของโลกธรรมชาติ กำลังทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มได้เสนอว่า สมัยโฮโลซีน ที่สุขสงบกำลังจบลงแล้ว และกำลังแทนที่ด้วยยุคสมัยแห่งมนุษย์ แอนโทรโพซีน
แอนโทรโพซีน คืออะไร
สมัยแอนโทรโพซีนเป็นสมัยทางธรณีกาลที่จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่การมีอยู่ของยุคสมัยดังกล่าวได้มีการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องในหมู่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมานับตั้งแต่ปี ค.ศ.2009
อ้างอิงจากบทความของ รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ในเว็บไซต์ป่าสาละ เขาให้คำจำกัดความของยุคนี้ว่า เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งทิ้งขยะจำนวนมหาศาลลงในมหาสมุทร หักร้างถางพงผืนป่าแล้วเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ถมผืนดินด้วยปุ๋ยเคมี ปล่อยมลภาวะทางอากาศ เช่น แก๊สเรือนกระจกจนเกิดวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ยังคงถกเถียงว่า ช่วงเวลาใดที่เป็นหมุดหมายเปลี่ยนผ่านจากสมัยโฮโลซีน เข้าสู่สมัยแอนโทรโพซีน แต่การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่สังเกตเห็นได้ในปัจจุบันจากผลกระทบของมนุษย์ในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งคลื่นความร้อนรุนแรงในยุโรป จนหลายเมืองมีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศา ไฟป่าจากอากาศที่ร้อนและแล้งผิดปกติในแคนาดา ไปจนถึงสภาวะเอลนีโญรุนแรง จนอุณหภูมิน้ำทะเลร้อนทะลุขีด เราจึงพออนุมานได้ว่า ยุคแห่งผลกระทบจากน้ำมือมนุษย์มาถึงแล้ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ถือเป็นหนึ่งในผลกระทบที่ใหญ่และเห็นชัดที่สุดที่มนุษย์ได้กระทำต่อโลก
ผลพวงจากวิทยาการมนุษย์ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติโดยน้ำมือมนุษย์ นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 เรื่อยมา ทำให้สภาพภูมิอากาศโลกกำลังเปลี่ยนไป รายงานล่าสุดของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้สูงถึง 1.09 องศา เมื่อเปรียบเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเมื่อศตวรรษที่ 19
และจากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์กำลังทยอยปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นๆ ทุกที ถึงกว่า 6.6 พันล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า ในแต่ละปี ยิ่งทำให้อุณหภูมิโลกสูงยิ่งขึ้นๆ เรื่อยๆ
อะไรกำลังรอเราอยู่ในอนาคต
แม้ว่าวิทยากรของมนุษย์ก้าวล้ำหน้าขึ้นทุกขณะ วาดฝันให้คนนึกถึงอนาคตของศตวรรษที่ 21 จะเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีและความสะดวกสบาย หากแต่รายงานของ IPCC ได้เสนอฉากทัศน์โลกอนาคตที่น่ากลัวและมืดหม่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด
จากรายงานของ IPCC นักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินเอาไว้ว่า หากมนุษย์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภค และยังคงเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานขับเคลื่อนโลกต่อไป ในไม่ช้า อุณหภูมิของโลกจะขยับขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่งผลให้โลกธรรมชาติปั่นป่วนทั้งระบบ กระทบกับมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อากาศที่ร้อนขึ้นทั่วโลกจะทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จนมีการคาดการณ์ว่าเมืองใหญ่ตามชายฝั่งทั่วโลกรวมถึง กรุงเทพมหานคร กำลังจะจมใต้มหาสมุทร ภายในศตวรรษหน้า
ทะเลที่ร้อนขึ้นจะส่งผลให้ พายุที่ก่อเกิดในทะเล ทวีกำลังแรงขึ้น พายุใหญ่ที่ในรอบร้อยปีจะเกิดขึ้นเพียงสักครั้ง จะเกิดถี่ขึ้น จนกลายเป็นปกติวิสัย ทำลายทรัพย์สินบ้านเรือนประชาชน ตลอดจนพืชพรรณเกษตรและอาหารตลอดแนวเส้นทางพายุ
โลกในอนาคตสมัยแอนโทรโพซีนจึงไม่ใช่สรวงสวรรค์ยูโทเปียที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่จะเป็นฉากทัศน์ดิสโทเปียที่โลกกำลังเอาคืนมนุษย์ จากผลพวงวิถีการดำรงชีวิตของเราที่ได้ทำร้ายธรรมชาติมายาวนาน
อย่างไรก็ดี ขณะนี้เรายังไม่สายเกินไปที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบา ประชาคมโลกยังสามารถรวมใจกัน ก้าวข้ามยุคเชื้อเพลิงฟอสซิล และหันมาดำรงวิถีชีวิตอย่างเป็นมิตรกับโลก เพื่อที่จะบรรเทาความโกรธเกรี้ยวของธรรมชาติ