ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกัน และเร่งหาทางออกในขณะที่ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีตัวอย่างแนวทางจัดการกับมลพิษทางอากาศหลายวิธีที่น่าสนใจ
ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกัน และเร่งหาทางออกในขณะที่ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีตัวอย่างแนวทางจัดการกับมลพิษทางอากาศหลายวิธีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมอย่างเข้มข้นและเป็นระบบ นอกจากการขอความร่วมมือ
1.สหรัฐอเมริกา
ในภาคเกษตรกรรม สหรัฐอเมริกาบังคับให้เกษตรกรอธิบายความจำเป็นในการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ด้านการเกษตร และมีระบบขออนุญาตการเผา เพื่อไม่ให้เกินขีดความสามารถในการดูดซับของธรรมชาติ เกษตรกรต้องขอใบอนุญาตความปลอดภัยการเผาจากหน่วยงานในท้องถิ่น เกษตรกรต้องผ่านการอบรมซึ่งทบทวนทุก 5 ปี หลังเผาเสร็จต้องรายงาน ในบางรัฐ เช่น รัฐไอดาโฮ เก็บค่าธรรมเนียมในการเผาด้วย โดยคิดเป็นสัดส่วนต่อพื้นที่ ขณะที่สหภาพยุโรปมีกฎหมายห้ามการเผาในที่โล่งแจ้งโดยเด็ดขาด เว้นแต่กรณีเพื่อสุขอนามัยพืช ตามระเบียบสหภาพยุโรป 1306/2013
ซึ่งแนวทางในสหรัฐฯ ก็สอดคล้องกับแนวความคิดการลงทะเบียนเพื่อจัดการบริหารเชื้อเพลิงที่หัวหน้าศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ เสนอไว้ ในขณะที่ปัจจุบัน แนวนโยบายในการจัดการฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่การเกษตรของไทยมีความชัดเจนเพียงแค่การเผาอ้อย ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งก็คือนาข้าว มีเพียงการประกาศห้ามเผาในที่โล่ง แต่จากข้อมูลจุดความร้อนในเดือนเมษายน 2022 ที่พบจุดความร้อนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลายพื้นที่ก็พบว่ามาจากการเผานาข้าว และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ ช่วงเวลาเดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศห้ามเผาในที่โล่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนเมษายน 2022 แต่กลับพบจุดความร้อนสูงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด้านไฟป่า สหรัฐอเมริกามีแนวทางการจัดการไฟป่าด้วยการเผาตามกำหนด (prescribed burning) มีหน่วยงานเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรในการจัดการพื้นที่ป่า มีผู้เชี่ยวชาญหลายด้านทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่พยากรณ์อากาศ และทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนพื้นที่ การกำหนดวันและเวลาโดยพิจารณาจากหลายปัจจัย การทำงานร่วมกับชุมชน นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในพื้นที่ป่า โดยในปี 2021 กระทรวงเกษตรเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแก่เจ้าหน้าที่ด้วย ขณะที่ออสเตรเลียเน้นการทำงานระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ป่า ดำเนินโครงการดับเพลิงสะวันนา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์และผู้จัดการที่ดินของชนพื้นเมือง
ในขณะที่ประเทศไทยมาตรการในพื้นที่ป่านั้นไม่มีความชัดเจน มีเพียงการกำหนดเป้าหมายลดจุดความร้อนให้ได้ 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อสังเกตเรื่องจุดความร้อนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ขณะเดียวกันจะพบว่ามาตรการในพื้นที่ป่าไม้นั้น แม้จะมีการใช้งบประมาณ ผ่านกรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ และการปกครองส่วนท้องถิ่น ทำแนวพื้นที่กันไฟ แต่แนวนโยบายดังกล่าวก็ยังขาดความโปร่งใสในการประเมินประสิทธิภาพของนโยบายและการใช้งบประมาณ
2. สหภาพยุโรป
ภาคการควบคุมยานยนต์และขนส่ง มีทั้งการบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง การเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม และการจำกัดพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2014 สหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์ (Euro Standard) ได้แก่ ไฮโดรคาร์บอน (HC) ไนโตรเจนออกไซด์ (NO) ฝุ่นละออง (Particulate Matter: PM) และจำนวนอนุภาคของฝุ่นละออง (Particulate Number: PN) ควบคุมสารองค์ประกอบหลักของน้ำมัน 6 ชนิด ได้แก่ กำมะถัน อะโรมาติก โอเลฟิน เบนซีน (Benzene) โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนและกำมะถัน
ขณะที่แอฟริกาใต้เก็บภาษีสิ่งแวดล้อม หากรถยนต์ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ 120 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป โดยสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยอัตราของภาษีสิ่งแวดล้อมจะขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยคือ จำนวนผู้โดยสารที่รถยนต์สามารถรองรับได้ และส่วนต่างของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถยนต์ปล่อยเมื่อเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด
มาตรการกำหนดเขตควบคุมการปล่อยมลพิษในตัวเมืองหรือเขตมลภาวะต่ำ (Low Emisssion Zone: LEZ) เป็นมาตรการที่ใช้ในหลายเมืองของยุโรป เขตพื้นที่ในเมืองที่จำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูง หากผู้ใช้รถต้องการนำรถผ่านเข้าไปในเขต LEZ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่แปรผันตามมลพิษที่ปล่อยออกมา ระหว่างปี 2019-2022 มีพื้นที่ซึ่งกำหนดเขตเพิ่มขึ้น 40 % จาก 228 พื้นที่เป็น 320 พื้นที่
โดยอิตาลีเป็นประเทศที่ประกาศเขตควบคุมฯ มากที่สุด 172 แห่ง ตามด้วยเยอรมนี สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ทั้งนี้สเปนเป็นประเทศล่าสุดที่รัฐบาลประกาศเขตควบคุมในหลายเมือง เช่น กรุงมาดริด หรือ บาร์เซโลน่า มาตรการแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง เช่น จำกัดการเข้าของยนต์ดีเซล หรือรถยนต์รุ่นเก่าด้วยการเก็บค่าธรรมเนียม กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรนับว่าเป็นเมืองที่มีมาตรการนี้เข้มงวดที่สุด โดยมีเขตปล่อยมลภาวะต่ำสุด (Ultra Low Emission Zone: ULEZ) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บริเวณใจกลางกรุงลอนดอนทั้งหมด
และปี 2023 ชาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน เตรียมจะออกมาตรการขยายให้เขต ULEZ ครอบคลุมพื้นที่กรุงลอนดอนทั้งหมดแต่ยังมีเสียงคัดค้านจากชาวลอนดอน บางประเทศเช่น ฝรั่งเศส และสเปน มีกฎหมายที่บังคับให้เมืองที่มีประชากรมากกว่า 150,000 คน (ประมาณ 42 เมือง) ต้องมีมาตรการกำหนดเขตควบคุมฯ
3.สิงคโปร์
ส่วนสิงคโปร์ ใช้การเก็บค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่ง (Congestion Charge: CC) โดยเก็บค่าธรรมเนียมภายใต้ระบบ Electronic Road Pricing (ERP) ซึ่งเป็นซุ้ม (Gantry System) กระจายอยู่ตามถนนรอบเมือง เมื่อผู้ใช้รถขับผ่าน ระบบ ERP จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมโดยอัตโนมัติด้วยการรับส่งข้อมูลผ่านเซนเซอร์ตัวรับสัญญาณที่รัฐบาลบังคับให้ผู้ใช้รถติดตั้ง
ในประเทศไทยนั้นก็มีแผนในการนําน้ำมันเชื้อเพลิงมีกํามะถันไม่เกิน 10 มิลลิลิตรต่อลูกบาศก์เมตร (ppm) (มีกำมะถันน้อยกว่า 5 เท่า) มาใช้ หรือการปรับปรุงน้ำมันให้มีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2024 โดยปัจจุบัน ในช่วงที่ยังไม่มีการใช้บังคับ ภาครัฐใช้วิธีขอความร่วมมือกับผู้จำหน่ายน้ำมันให้นำน้ำมันกำมะถันต่ำเทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 มาจำหน่ายก่อน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า
และอีกส่วนหนึ่งก็คือการออกประกาศกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายน 2022 ที่ผ่านมา และมาตรการการตรวจควันดำ ส่วนประเด็นเขตพื้นที่ในเมืองที่จำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูง กรุงเทพมหานครเคยมีทีท่าว่าจะใช้มาตรการนี้กับรถบรรทุกในปี 2020 ในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่น PM2.5 เข้าขั้นวิกฤตแต่สุดท้ายก็มีการเลื่อนการใช้มาตรการออกไป
4.ญี่ปุ่น
ในภาคอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นพัฒนาระบบการติดตามและเฝ้าระวัง ปรับปรุงโมเดลพยากรณ์อากาศ ปรับปรุงฐานข้อมูลและรายชื่อแหล่งกำเนิดมลพิษ มาตรการระดับพื้นที่เพิ่มการติดตาม กำกับ และควบคุม การปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการปล่อยเขม่าไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) กฎหมายว่าด้วยระบบการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ และการส่งเสริมการจัดการสารเคมี (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) ในปี 1998 ประเด็นสำคัญของกฎหมายอยู่ที่เมื่อภาคเอกชนปลดปล่อยหรือมีการเคลื่อนย้ายสารอันตรายที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่กฎหมายควบคุมจะต้องรายงานปริมาณและชื่อสารเคมีนั้นๆ ให้หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจฯ ร่วมกับกระทรวงสิ่งแวดล้อม รับทราบและรวบรวมเป็นฐานข้อมูลของประเทศ ข้อมูลจากรายงานเหล่านี้ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะบนเว็บไซต์ของทั้งสองกระทรวง และประชาชนสามารถขอให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยข้อมูลที่ต้องการได้ ญี่ปุ่นยังมีกฎหมายว่าด้วยการชดเชยความเสียหายทางสุขภาพจากมลพิษด้วย
ในประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ที่ให้โรงงานประเภทต่างๆ ติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศอัตโนมัติ พ.ศ. 2544 จากเดิมที่ใช้บังคับเฉพาะโรงงานในวงจำกัด เป็นครอบคลุมโรงงานที่เข้าข่ายทั่วประเทศ สั่งติดเครื่องตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องฯ แบบอัตโนมัติพร้อมรายงานผล 24 ชั่วโมง
แต่จากข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะพบว่า กรุงเทพฯ มีโรงงานอุตสาหกรรม 260 โรงงาน แต่ปัจจุบัน ในกรุงเทพฯ มีโรงงานที่เชื่อมต่อผลการตรวจวัดมลพิษแบบอัตโนมัติมลพิษอากาศจากปล่องระบาย (CEMS) เพียง 4 โรงงาน 15 ปล่อง เท่านั้น
ในประเด็นเรื่องกฎหมายว่าด้วยระบบการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ และการส่งเสริมการจัดการสารเคมี (Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) มีการพยายามผลักดัน “ร่างกฎหมาย PRTR” ซึ่งจะกำหนดให้อุตสาหกรรมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่ปล่อยออกมาสู่สภาพแวดล้อม โดยพรรคก้าวไกล แต่ก็ถูกปัดตกไปแล้วครั้งหนึ่งในปี 2021 และปัจจุบันมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ก็ได้พยายามที่จะผลักดันร่างกฎหมายนี้อีกครั้ง
นอกจากนี้ยังมีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด หลายร่าง ในขณะที่ร่างของเครือข่ายอากาศสะอาด หรือ Thailand CAN ที่ได้ยื่นต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2022 ยังไม่มีความคืบหน้า
ในระดับเมือง ยังมีแนวทางเกี่ยวกับการจัดทำแผนที่ภูมิอากาศเมืองและการวางผังทางระบายอากาศในพื้นที่เมือง โดยเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำในการออกแบบช่องอาคารเพื่อใช้เป็นทางผ่านของกระแสลม ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดให้จำนวนสูงสุดของพื้นที่สวนลอยฟ้าในอาคารชุดพักอาศัยหรืออาคารที่มีการใช้งานประเภทอื่นมีค่าเท่ากับหรือไม่น้อยกว่าจำนวนชั้นของอาคารหารด้วย 15 และช่องอาคารต้องมีช่องเปิดอย่างน้อยสองด้านที่อยู่ตรงข้ามกันเพื่อให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสลมแบบข้ามฟาก
ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน
สิงคโปร์ออกกฎหมายมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน (The Singapore Transboundary Haze Pollution Act: THPA) ในปี 2014 ที่มีเป้าหมายมุ่งจัดการบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการเผาพื้นที่การเกษตรในอินโดนีเซีย กำหนดให้หน่วยงานซึ่งก่อให้เกิดหมอกควันในต่างประเทศต้องมีความรับผิดในสิงคโปร์ ไม่ว่าบริษัทเหล่านั้นจะเกี่ยวข้องกับบริษัทสิงคโปร์หรือไม่ก็ตาม ใช้การสันนิษฐานหลายระดับ ตัวอย่างเช่น หากมีแผนที่จากแหล่งใดที่ระบุว่าแปลงที่ดินแปลงหนึ่งถือครองโดยบริษัท หรือบริษัทเป็นผู้ใช้พื้นที่กฎหมายฉบับนี้จะสันนิษฐานว่าบริษัทที่ถือครองหรือเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบ กรณีเกิดปัญหามลพิษหมอกควันขั้นรุนแรงในประเทศสิงคโปร์แล้วมีหลักฐานจากดาวเทียมหรือทางอุตุนิยมวิทยาใดๆ ที่บ่งชี้ว่าหมอกควันที่เกิดขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นโดยผู้ถือครองหรือใช้ประโยชน์ที่ดินนั้น มีนักกฎหมายวิเคราะห์ว่า กฎหมายนี้เป็นการสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลอินโดนีเซียให้จริงจังกับการแก้ไขปัญหา
ขณะที่สหภาพยุโรปใช้แนวทางจัดการห่วงโซ่อุปทาน ประเด็นการทำลายป่าในอินโดนีเซียจากการเผาป่าเพื่อนำที่ดินมาปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อส่งออกเป็นวัตถุดิบแก่หลายชาติในยุโรป ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันพิษข้ามพรมแดนถูกกล่าวถึงมานานหลายปี เมื่อเดือนธันวาคม 2022 สหภาพยุโรป ประกาศใช้ระเบียบ Deforestation-Free Products บริษัทที่ต้องการวางจำหน่ายสินค้าในตลาดร่วมสหภาพยุโรปต้องเป็นสินค้าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า (deforestation-free) โดยจะมีการตรวจสอบและประเมินสินค้า (due diligence rules) เพื่อยืนยันว่าเป็นสินค้าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า กฎนี้ส่งผลต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมันจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้สามารถส่งสินค้าออกได้
ในขณะที่ประเทศไทยมีเพียงการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนเพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกันภายใต้แผนงานอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Transboundary Haze-Free Roadmap) จนมาถึงแผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 เพื่อป้องกันมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (Chiang Rai 2017 Plan of Action for Transboundary Haze Pollution Control in the Mekong Sub-Region) และล่าสุดคือแผนงานอาเซียนปลอดหมอกควัน (Haze Free ASEAN Roadmap) แต่ไม่มีข้อตกลงหรือสภาพบังคับใดๆ ออกมา มีเพียงแค่การแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูล
ตัวอย่างมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในต่างประเทศ จากสมุดปกเขียวอากาศสะอาด (Clean Air Green Paper): บูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับอากาศสะอาด โดยเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย