ตลาดคาร์บอนเครดิตกำลังเติบโต การปลูกต้นไม้ต้องไม่เป็น CSR หรือกิจกรรมเพื่อสังคมอีกต่อไป มันสามารถเป็นการลงทุนได้ ขึ้นอยู่กับมุมมอง ชมวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมของ สศช.
วันนี้ 20 มกราคม 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยแนวคิดเพื่อโลกบนเวที CAL Forum รุ่นที่ 2 (Climate Action Leaders Forum) เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจรวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยตอนหนึ่ง นายดนุชากล่าวว่า อยากให้เอกชนเปลี่ยนการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม CSR ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การปลูกป่าทดแทน ให้เปลี่ยนไปเป็นการลงทุนในตลาดคาร์บอนแทน
ทั้งนี้มองว่า การทำกิจกรรมในรูปแบบเดิม ๆ อาจไม่ได้ผลอะไรมากนัก และที่ผ่านมาการลงทุนในตลาดคาร์บอนและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต มีช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นแล้ว อีกทั้งในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐเองก็ได้สร้างระบบนิเวศเกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตรองรับไว้แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Spiro Carbon วิธีขายคาร์บอนเครดิตฉบับชาวนา ปลูกข้าวยังไงให้รักษ์โลก
วราวุธ ยก "บ้านโค้งตาบาง" เป็นป่าชุมชนแห่งแรกที่จะผลักสู่ตลาดคาร์บอน
ส่องซื้อขายคาร์บอนเครดิตประเภทไหนมาแรง? เปิดตลาดซื้อขายคึกคัก
เตรียมลงทะเบียนแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต FTIX 16 ม.ค. นี้
ดังนั้นภาคเอกชนเองก็สามารถเข้ามาลงทุนในตลาดนี้ได้ ซึ่งมันจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำพาประเทศไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ ภายในปี 2065
“การทำ CSR ปลูกป่า ที่หลายภาคเอกชนเคยทำ ในตอนนี้ควรเปลี่ยนไปเป็นการลงทุนแทน ซึ่งสามารถทำได้ และเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ได้ แถมยังช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับภาคอุตสาหกรรมในการดำเนินการสร้างความเป็นมติต่อสิ่งแวดล้อมด้วย” นายดนุชา กล่าว
นอกจากนี้ นายดนุชาได้กล่าวเสริมว่า สิ่งที่รัฐบาลเตรียมไว้ให้ตอนนี้คือ การกำหนดสิทธิประโยชน์ในด้านของการส่งเสริมการลงทุน เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนในภาคของการผลิตสามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่นเดียวกับการกำหนดแผนต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการขับเคลื่อนประเด็นการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะแผนพัฒนาเสรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้มีการกำหนดรายละเอียดของการขับเคลื่อนอย่างชัดเจน อาทิ ในช่วง 5 ปี เราจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% เป็นต้น
สุดท้ายนี้ นายดนุชาแนะนำว่า การเดินไปให้ถึงเป้าได้นั้น เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนกระบวนการ เปลี่ยนตัวเอง ขั้นแรกคือต้องเดินไปให้ถึง คือ ไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 และภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ก็เอาคาร์บอนฟุตปริ้นท์มาดูเลย การปลูกป่า ที่เคยมองว่า เป็นเรื่อง CSR อาจจะกลายเป็นการลงทุนได้ เพราะมีการซื้อขาย คาร์บอน เครดิตได้ กระทรวงทรัพฯ เตรียมไว้แล้ว
เรื่องนี้ภาครัฐเดินคนเดียวไม่สำเร็จ ต้องเดินไปด้วยกันทั้งหมด ภาคเอกชนต้องปรับเปลี่ยน ภาคเอกชนและภาคปชช. ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง
อย่างไรก็ตาม สศช.มองว่า แม้รัฐจะกำหนดแผนไว้ชัดเจน รู้ปัญหา รู้ทางออกในการแก้ปัญหา แต่สุดท้ายการดำเนินการทั้งหมดก็ต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันนี้มีหลายหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนได้เริ่มต้นไปแล้ว และจากนี้จึงอยากให้มีการขยายผลต่อไป