svasdssvasds

ปัญหา PM 2.5 เรื้อรัง นิติพล ชี้ รัฐต้องเร่งควบคุมกลุ่มทุนไม่ให้สร้างมลพิษ

ปัญหา PM 2.5 เรื้อรัง นิติพล ชี้ รัฐต้องเร่งควบคุมกลุ่มทุนไม่ให้สร้างมลพิษ

นิติพล ผิวเหมาะ ชี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบหนักหน่วงและเรื้อรัง แนะ รัฐต้องเร่งออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ ควบคุมกลุ่มทุนใหญ่ ไม่ให้สร้างมลพิษ ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำร้ายสุขภาพประชาชน

นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.พรรก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก ชี้ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบหนักและเรื้อรัง แนะ รัฐต้องเร่งออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ ควบคุมกลุ่มทุนใหญ่ ไม่ให้สร้างมลพิษ ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำร้ายสุขภาพประชาชน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ทำไมเราจึงต้องจริงจังกับการเรียกร้องให้รัฐบาลใส่ใจปัญหามลพิษทางอากาศ

ตนเชื่อว่าหลายคนรู้สึกสะเทือนใจอย่างมาก เมื่อได้ยินข่าวคุณหมอวัยหนุ่มท่านหนึ่งที่กำลังมีอนาคตสดใส แต่อยู่ดี ๆ ก็ตรวจพบว่าเขากำลังเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการรักษาและต่อสู้อย่างเต็มที่ ตนขอเป็นกำลังใจและอวยพรมาในโอกาสนี้ ให้คุณหมอหายจากการป่วยและกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่น่าสนใจครับว่า เกิดอะไรขึ้นกับคนที่มีร่างกายแข็งแรง รักษาสุขภาพตนเองมาตลอด เป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลของคณะ และไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ มีเพียงปัจจัยสันนิษฐานเดียวเท่านั้นคือ หรืออาจเป็นเพราะคุณหมออยู่ที่เชียงใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อกลางปี วันที่ 18 มีนาคม 65 แวดวงวิชาการเพิ่งได้สูญเสีย รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านผู้เชี่ยวชาญด้านผึ้งระดับโลก เพิ่งได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นอายุไม่เกิน 45 ปี และท่านได้จากด้วยโรคมะเร็งปอด

PM 2.5 ส่งผลกระทบเรื้อรัง นิติพล ชี้ รัฐต้องเร่งควบคุมกลุ่มทุนใหญ่ไม่ให้สร้างมลพิษ

ข่าวที่น่าสนใจ

ทั้งสองท่านเป็นบุคลากรอันทรงคุณค่า อายุยังน้อย ไม่สูบบุหรี่หรือใกล้ชิดกับกิจกรรมเสี่ยงอื่น แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยร่วมของทั้งคู่ คือ การอาศัยในเชียงใหม่ เมืองที่มีแนวโน้มของข้อมูลสถิติประชาชนโดยเฉพาะใน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ บ่งชี้ว่า ป่วยเป็นมะเร็งปอดและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ สอดคล้องกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยเป็นเมืองที่ติดอันดับอากาศแย่สุดของโลกเป็นประจำทุกปี และหากมองภาคเหนือทั้งภาค ข้อมูลจากโรงพยาบาลมหาราช พบว่า ประชาชนภาคเหนือป่วยเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าภาคอื่น 3-4 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีรายงานจาก สถานบันวิจัยมะเร็ง IARC องค์การอนามัยโลก ที่ยืนยันว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง และ PM 2.5 มีสารก่อมะเร็ง กลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอันตรายมากที่สุด และยังมีงานศึกษาที่ระบุอีกว่า การรับหรือสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ที่ระดับ 22 ไมโครกรัมต่อตารางเมตร เท่ากับสูบบุหรี่ 1 มวน

นี่จึงเป็นสถานการณ์มลพิษทางอากาศที่กำลังคุกคามสุขภาพและชีวิต ที่ตนตั้งต้นไว้ว่า ห้ามดูเบาและมองข้ามเด็ดขาด รวมถึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจริงจังกับการเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ใส่ใจต่อปัญหานี้ในทันที

PM 2.5 ส่งผลกระทบเรื้อรัง นิติพล ชี้ รัฐต้องเร่งควบคุมกลุ่มทุนใหญ่ไม่ให้สร้างมลพิษ

ฝุ่นควันมลพิษ PM 2.5 มาจากไหน ทำไมเชียงใหม่จึงรุนแรง

จากงานวิจัยของกรีนพีซ ประเทศไทย พบว่า 1 ใน 3 ของมลพิษอากาศข้ามพรมแดนมาจากพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ไม่ว่าตอนบนของ สปป.ลาว หรือ รัฐฉานของเมียนมา รวมถึงในภาคเหนือของไทยเอง เป็นผลโดยตรงมาจากการที่รัฐได้นำเกษตรพันธะสัญญาไปใช้ในโครงการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี เจ้าพระยาแม่โขง (ACMECS) ร่วมกับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย  ที่เปิดโอกาสให้บริษัทเกษตรของไทยสามารถริเริ่มลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านได้

โดยโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2543 และเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังจากปี 2546  ข้อตกลงนี้นำไปสู่การขยายการลงทุนทางเศรษฐกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านครั้งมโหฬาร เพื่อหลีกเลี่ยงข้อบังคับทางสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย พูดง่ายๆ ก็คือ มีขึ้นเพื่อเอื้อให้กลุ่มทุนเกษตรยักษ์ใหญ่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม แต่สามารถเก็บเกี่ยวผลกำไรได้เต็มที่จากธุรกิจที่นอกพรมแดนที่รัฐเปิดทางให้

ด้วยเหตุนี้ ในแต่ละปีจึงมีการเผาไร่ข้าวโพดจนเกิดเป็นฝุ่นพิษขนาดจิ๋วลอยข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่อากาศค่อนข้างนิ่ง ขณะที่เชียงใหม่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ฝุ่นควันจึงถูกลมพัดกระจายออกไปได้ช้า กลายเป็นเมืองแห่งหมอกพิษแทนหมอกขาวและลมหนาว อัตราการเกิดมะเร็งที่นี่จึงมากกว่าที่อื่น เป็นภัยคุกคามสุขภาพและชีวิตมากขึ้นๆ ทุกปีๆ โดยที่รัฐไม่ทำอะไรเลย โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

PM 2.5 ส่งผลกระทบเรื้อรัง นิติพล ชี้ รัฐต้องเร่งควบคุมกลุ่มทุนใหญ่ไม่ให้สร้างมลพิษ

แต่เราปฏิเสธไม่ได้อีกแล้วครับว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพมากกว่านี้ เพื่อควบคุมให้กลุ่มทุนที่ทำธุรกิจก่อมลพิษไม่ว่ารูปแบบใด จะทำธุรกิจในประเทศหรือนอกประเทศก็จะต้องรับผิดชอบในการจัดการไม่ให้เกิดมลพิษด้วย

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำได้ เป็นลักษณะเช่นเดียวกับกรณีของการทำประมงผิดกฎหมายที่เราไม่ยอมแก้ จนกระทั่งถูก IUU บีบให้มีระบบตรวจสอบย้อนทวน คือยุโรปจะไม่รับซื้อสินค้าประมงไทยจนกว่าจะมีระบบติดตามว่า ผลผลิตจากการประมงนี้จะต้องไม่มาจากการทำประมงแบบล้างผลาญหรือผิดกฎหมายค้ามนุษย์ โดยไม่เกี่ยวว่าบริษัทจะกระทำการเอง หรือรับซื้อมา ต้องมีระบบตรวจสอบที่ยืนยันได้ว่าสินค้าประมงเหล่านี้ไม่ได้มาจากพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งสุดท้ายเราก็ทำได้สำเร็จทำให้การค้ากับยุโรปกลับมาเป็นปกติเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในกรณีนี้จะไม่ถูกบีบจากกติกาสากลใดๆ แต่เราเห็นกันชัดๆแล้วว่า มีชีวิตและสุขภาพของประชาชนสังเวยให้กับผลกำไรมหาศาลของกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่มอยู่ตรงหน้า รัฐบาลที่ดีต้องคำนึงประชาชนสำคัญกว่าสิ่งใดครับ การออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อบังคับให้กลุ่มทุนเหล่านี้รับผิดชอบต่อมลพิษไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมจึงเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ประชาชนทนทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้นมานานนับสิบปีแล้ว กฎหมายแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นโดยทันที

ที่มา FB : Nitipon Piwmow - นิติพล ผิวเหมาะ ทำไมเราจึงต้องจริงจังกับการเรียกร้องให้รัฐบาลใส่ใจปัญหา ‘มลพิษทางอากาศ’ 

related