svasdssvasds

GISTDA เผยภาพแรกของดาวเทียม MGT-l1 ดาวเทียมอุตุฯ มีความละเอียดสูง

GISTDA เผยภาพแรกของดาวเทียม MGT-l1 ดาวเทียมอุตุฯ มีความละเอียดสูง

GISTDA เผยภาพแรกของดาวเทียม MGT-l1 ดาวเทียมอุตุฯ มีความละเอียดสูง ทำให้นักวิเคราะห์สามารถเห็นรายละเอียดของโครงสร้างเมฆในระดับสูง สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศรุนแรงมีความแม่นยำและความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แถมมีอายุการใช้งานนานถึง 20 ปี

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA  เผยภาพแรกของดาวเทียม MGT-l1 ดาวเทียมอุตุฯโฉมใหม่ของESA โดยระบุว่า...Meteosat Third Generation Imager (MTG) เป็นดาวเทียมเพื่อการตรวจสอบสภาพอากาศรุ่นล่าสุดขององค์การอวกาศยุโรป มีความสามารถในการแสดงภาพที่มีความละเอียดสูง ได้เผยแพร่ภาพถ่ายภาพแรกแสดงให้เห็นสภาพของทวีปยุโรป แอฟริกา และมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยรายละเอียดที่น่าทึ่ง

ดาวเทียม Meteosat Third Generation Imager-1 (MTG-I1) ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ด้วยจรวดนำส่ง Ariane 5 ซึ่ง MTG-l1 เป็นดาวเทียมรุ่นแรกในชุดดาวเทียมรุ่นใหม่นี้ ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่าง European Space Agency (ESA) และ European Organisation for the Exploitation of Meteorological Satellites (Eumetsat) ปัจจุบันได้เผยแพร่ภาพแรกของดาวเทียม MTG-I1

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ภาพดังกล่าวถ่ายโดยกล้อง Flexible Combined Imager ของดาวเทียม MTG-I1 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2566 ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปทางเหนือและตะวันตก รวมถึงสแกนดิเนเวียที่ปกคลุมไปด้วยเมฆ โดยมีท้องฟ้ามีความโปร่งแสงค่อนข้างมากเหนือภูมิภาคของอิตาลีและคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก

เครื่องมือตรวจวัดที่ติดตั้งอยู่บนดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา Meteosat รุ่นที่สาม เป็นอุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงและมีวงโคจรที่ถี่มากขึ้นกว่าดาวเทียม Meteosat รุ่นที่สองด้วย ซึ่งทำให้ปรากฏรายละเอียดต่างๆ เช่น กระแสน้ำวนของเมฆเหนือหมู่เกาะคานารี หิมะที่ปกคลุมบนเทือกเขาแอลป์ และตะกอนในน้ำตามแนวชายฝั่งของอิตาลี ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนหรืออาจจะมองไม่เห็นเลยในภาพที่ถ่ายโดย Meteosat รุ่นที่สอง

ด้วยรายละเอียดภาพที่ถูกพัฒนาให้ละเอียดเพิ่มขึ้นนี้ ทำให้นักวิเคราะห์สามารถเห็นรายละเอียดของโครงสร้างเมฆในระดับสูงขึ้น ประกอบกับความถี่ของวงโคจรที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนการปรับปรุงให้การพยากรณ์อากาศสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศรุนแรงมีความแม่นยำและความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ดาวเทียม MTG-I1 ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบเป็นเวลา 12 เดือน เพื่อตรวจสอบการทำงานของกล้อง Flexible Combined Imager และ Lightning Imager ซึ่งข้อมูลก็จะถูกส่งต่อให้กับหน่วยงานที่ให้บริการอุตุนิยมวิทยาทั่วยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ ภายในปี 2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพยากรณ์สภาพอากาศ โดยสถานีภาคพื้นดินจะผลิตข้อมูลภาพถ่ายเต็มครึ่งซีกโลกดังภาพตัวอย่างนั้นทุกๆ 10 นาที เมื่อระบบทำงานอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์

ดาวเทียม MTG ถูกร่วมพัฒนาโดยกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในยุโรป นำโดย Thales Alenia Space ร่วมพัฒนากับ OHB กล้อง Lightning Imager พัฒนาโดย Leonardo จากอิตาลี ในขณะเดียวกัน Telespazio ให้บริการนำส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศ

ยุคใหม่ของดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา

ดาวเทียม MTG-I1 เป็นดาวเทียมดวงแรกในชุดของระบบ MTG จากทั้งหมด 6 ดวง ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนงานด้านพยากรณ์อากาศ ตรวจจับเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มีอายุการใช้งานนานถึง 20 ปี นอกจาก MTG-I1 ยังประกอบด้วยดาวเทียม MTG-I เพิ่มอีก 2 ดวงและดาวเทียม MTG Sounding (MTG-S) อีก 1 ดวง ซึ่งทำงานร่วมกันในการปฎิบัติภารกิจ

สำหรับดาวเทียม MTG-S ติดตั้ง Infrared Sounder และ Ultraviolet Visible Near-Infrared spectrometer เพื่อตรวจสอบความไม่เสถียรของก้อนเมฆในรูปแบบสามมิติ เพื่อข้อมูลประกอบการพยากรณ์พายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงล่วงหน้า วงโคจรแบบ geostationary หรือวงโคจรค้างฟ้า จะสามารถทำให้ตรวจนับ บนโอโซน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และเถ้าภูเขาไฟภายในชั้นบรรยากาศได้อีกด้วย

ปัจจุบันการอยู่ในระหว่างการทดสอบอุปกรณ์ Infrared Sounding ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะนำส่งไปยังเมือง Bremen ประเทศเยอรมนี เพื่อประกอบเข้ากับดาวเทียม MTG-S คาดว่าการพัฒนาดาวเทียมจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2567 มีเป้าหมายที่จะส่งขึ้นสู่วงโคจรก่อนสิ้นปี

related